ข่าวการศึกษา

กลไกสำคัญในการทำงานเพื่อการช่วยเหลือเด็ก นอกระบบการศึกษาในจังหวัดชัยภูมิ

ทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวารวดี” จากคำขวัญของจังหวัดชัยภูมิสะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดชัยภูมิเป็นดินแดนที่มีแหล่งทรัพยากรทั้งผืนป่าและพื้นน้ำที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปัญหาที่พบของจังหวัดมีหลายประการด้วยกัน เช่น การมีสารเคมีตกค้างในการทำการเกษตร การอพยพย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองทำให้เกิดภาวะครอบครัวแหว่งกลาง และในด้านการศึกษาคือการมีเด็กออกกลางคัน ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พบว่าในจังหวัดชัยภูมิมีเด็กนอกระบบการศึกษาที่ออกจากระบบการศึกษากลางคันกว่า 20,500 คน เมื่อออกไปอยู่ในสังคมก็จำต้องหลบซ่อนอยู่หลังเสาหรือหลบซ่อนอยู่ตามซอกหลืบของสังคม


คณะทำงานจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน และภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามและหนุนเสริมโครงการ “ตามหาน้องในซอกหลืบ : แสงส่องใจปลอดภัยจาก COVID-19” ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นโครงการที่ทำงานเป็นเครือข่ายร่วมมือโดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิเป็นแกนหลักสำคัญ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สมาคมคนพิการจังหวัดชัยภูมิ ชมรมผู้ปกครองเด็กออทิสติกจังหวัดชัยภูมิ ชมรมผู้ปกครองเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้เด็กกลับมาสู่การเรียนรู้ตามธรรมชาติ เต็มศักยภาพ ได้รับโอกาส ทักษะ ความรู้ บ่มเพาะความคิด เติบโตไปเป็นแรงงานคุณภาพ มีคุณภาพชีวิต และมีความสุขมากขึ้นให้กับเด็กที่ด้อยโอกาสในจังหวัดชัยภูมิ

การดำเนินโครงการได้ดำเนินงานในพื้นที่ 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอคอนสารอำเภอภักดีชุมพล อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอบ้านแท่น และอำเภอจัตุรัส โดยใช้กลไก ครู กศน. และครูนอกระบบการศึกษาซึ่งเป็นครูที่เป็นอาสาสมัครในชุมชนที่และมีความเชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน และกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนในแต่ละอำเภอในการเข้าถึงตัวเด็ก โดยใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ในการสำรวจเด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งได้รับการอบรมจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ โดยเข้ามาช่วยในการกำหนดพิกัดบ้าน สภาพความเป็นอยู่ และข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางกายภาพที่สำคัญสำหรับการดำเนินโครงการในการช่วยเหลือ ซึ่งโครงการได้พบเด็กหลากหลายกลุ่มมากกว่า 1,000 คน อาทิ เด็กออทิสติก เด็กบกพร่องทางสติปัญญา เด็กพิการร่างกาย เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้แม่วัยใส เด็กกำพร้า เด็กใช้แรงงานภาคการเกษตรที่รับจ้างตัดอ้อยหรือกรีดยาง เด็กในชุมชนแออัด เด็กในชุมชนชนบท เป็นต้น มีการศึกษาความต้องการในการเรียนรู้และออกแบบแผนการเรียนรู้เป็นรายบุคคลและกลุ่ม และมีครู กศน. และครูนอกระบบการศึกษาที่เป็นอาสาสมัครเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของเด็กผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของ กศน.ที่อยู่ในพื้นที่ กิจกรรมที่ดำเนินการใช้เวลาเรียนรู้ประมาณ 1-6 เดือน เช่น การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ทำสบู่สมุนไพรพื้นบ้านว่านนางคำ การฝึกทักษะอาชีพด้วยการขายเครื่องดื่ม การทำไข่เค็มพอกสมุนไพรและการทอผ้าซาโอริ เป็นต้น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/article/news_2749453

Powered by GliaStudio

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ชุดข้าราชการ ชุดข้าราชการหญิง ชุดกากี ชุดข้าราชการ shopee
Back to top button