เทคนิคการฝึกวินัยให้นักเรียน
เทคนิคการฝึกวินัยให้นักเรียน
นอกจากการให้ความรู้ สิ่งหนึ่งที่ครูสามารถฝึกนักเรียนได้นั่นคือ “การฝึกวินัย” ซึ่งจะที่ช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จด้านการเรียน รวมไปถึงในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เทคนิคการฝึกวินัยให้ผู้เรียนนี้มาจากข้อเขียนของ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุมาพร ตรังคสมบัติ จิตแพทย์ดีเด่นผู้มีผลงานทางวิชาการจำนวนมาก ซึ่งคุณครูทุกท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ทำห้องเรียนให้น่าอยู่
การทำห้องเรียนให้น่าอยู่ เช่น สะอาด สวยงาม ครูควรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการตกแต่งห้องเรียน มีบอร์ดหรือมุมกิจกรรมที่น่าสนใจซึ่งช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน เกิดความรู้สึกรักและเป็นเจ้าของห้องเรียนและโรงเรียน ตลอดจนให้ความร่วมมือกับครูเป็นอย่างดี
2. สร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างกัน
ความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างครูและนักเรียน รวมทั้งระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างวินัยให้นักเรียน ความสัมพันธ์ที่ดีจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมทางบวก เช่น การพูดคุย คำชมเชย เสียงหัวเราะที่สนุกสนานในห้องเรียน ซึ่งจะเกิดจากการที่นักเรียนรับรู้ได้ถึงความรักและห่วงใยจากครูด้วยใจจริง
3. เป็นตัวอย่างที่ดี
ดังคำกล่าวที่ว่า “ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ” ประพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการให้เกิดในตัวนักเรียน ครูต้องแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นตัวอย่างด้วย เช่น การควบคุมอารมณ์ของตนเอง การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน เมื่อนักเรียนเห็นพฤติกรรมเหล่านั้นบ่อยครั้งก็จะเลียนแบบตัวอย่างจากครูได้
4. สื่อสารกับนักเรียนอย่างชัดเจน
ครูควรให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อแก้ไขพฤติกรรม (corrective feedback) ที่ไม่ดีของนักเรียน โดยการสื่อสารที่ชัดเจนและตรงประเด็นว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด และควรแก้ไขอย่างไร มากกว่าใช้การตำหนิติเตียนเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการตำหนิต่อหน้าบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้นักเรียนอับอายเสียหน้า และโกรธครูในที่สุด
5. “จับถูก” ดีกว่า “จับผิด”
ครูควรเปลี่ยนทัศนคติที่มักจ้องแต่พฤติกรรมไม่ดีของนักเรียนมาเป็นการสังเกตพฤติกรรมที่ดีแทน เนื่องจากเด็กต้องการให้ผู้ใหญ่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของตัวเอง ดังนั้น เมื่อครูเห็นเด็กทำดีเมื่อไร ต้องรีบให้ความสนใจทันทีและกล่าวชมเชยด้วยใจจริง
6. ให้รางวัล
การให้รางวัลเมื่อนักเรียนทำดีเป็นการเสริมแรงทางบวกทางหนึ่ง รางวัลอาจเป็นคำชมเชยเป็นการส่วนตัวหรือเป็นทางการ เช่น การประกาศเกียรติคุณ รวมไปถึงการให้สิ่งของเป็นรางวัล เด็กบางกลุ่มครูอาจใช้วิธีการให้สะสมคะแนนหรือสติ๊กเกอร์ และเมื่อถึงกำหนดจึงมาแลกสิ่งที่ต้องการตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว
7. ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี
ครูควรสังเกตว่านักเรียนคนใดมีพฤติกรรมที่ดีในด้านใด และควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเป็นขั้นตอน ให้เด็กมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนนั้นให้มากขึ้น เช่น ถ้านักเรียนคนใดมีใจชอบบริการเพื่อน ๆ ครูอาจตั้งให้เป็นผู้จัดการฝ่ายบริการของห้อง ซึ่งเด็กจะทำอย่างต่อเนื่องเพราะตรงกับลักษณะนิสัยของตัวเอง
8. หลีกเลี่ยงการให้แรงเสริมทางลบ
การลงโทษเบา ๆ ทุกครั้ง แต่เป็นจุดเด่น เช่น คาบไม้บรรทัด ยืนขาเดียวหน้าห้อง หรือออกไปยืนข้างนอกคนเดียว อาจเป็น การให้แรงเสริมทางลบโดยไม่รู้ตัวได้ เนื่องจากตรงกับความต้องการของนักเรียน ซึ่งรู้สึกเป็นที่สนใจของครูและเพื่อน ๆ หรือได้ออกไปจากห้องเรียนที่วุ่นวาย
เอกสารอ้างอิง : ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอุมาพร ตรังคสมบัติ. (2565). “สร้างวินัยให้ลูกคุณ”
ฉบับปรับปรุงใหม่. (หน้า 293-299). กรุงเทพฯ: บริษัทกู๊ดเฮด พริ้นท์ติ้ง แอนด์ แพคเกจจิ้ง กรุ๊ป จำกัด.
ที่มา IPST Thailand