ข่าวการศึกษา

กําหนดการกิจกรรม วันที่ 5 ธันวาคม 2566

วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ร.9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค.

วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อไร?

ประเทศไทยจัดวันพ่อแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้คิดริเริ่ม กำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

หลังจากนั้นเป็นต้นมาเป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีคือ “วันพ่อแห่งชาติ” เพื่อเทิดทูนพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงเป็นการให้ความสำคัญกับบทบาทของพ่อที่มีต่อสถาบันครอบครัวและสังคมไทย โดยคณะรัฐมนตรีกำหนดวันพ่อแห่งชาติให้เป็นวันหยุดราชการประจำปีในประเทศไทย

“พุทธรักษา” ดอกไม้สีเหลืองประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกพุทธรักษา ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ เนื่องจากดอกพุทธรักษามีสีเหลืองตรงกับสีวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 (วันจันทร์) นอกจากนี้ชาวพุทธยังมีความเชื่อว่าดอกพุทธรักษาคือดอกไม้มงคล หมายถึงพระพุทธเจ้าปกป้องรักษา สอดคล้องกับชื่อของดอกไม้นั่นเอง

5 กิจกรรมน่าสนใจในวันพ่อแห่งชาติ 2566

เป็นปกติในทุกวันพ่อแห่งชาติที่หน่วยงานต่างๆ และประชาชนชาวไทยจะนิยมประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน มีการจัดพิธีทางศาสนาทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือแม้กระทั่งรวมตัวกันทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน ส่วนกิจกรรมในครอบครัวก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถือเป็นโอกาสดีๆ ที่ลูกๆ จะได้แสดงความกตัญญูและความรักต่อผู้มีพระคุณ

1. นำพวงมาลัยไปกราบขอพรพ่อ
กิจกรรมคลาสสิกที่อาจทำให้คุณพ่อน้ำตาซึมในวันพ่อแห่งชาติก็คือ การที่ลูกๆ นำพวงมาลัยสักพวกเข้าไปกราบขอพร พูดขอบคุณที่พ่ออบรมเลี้ยงดูให้การศึกษา บอกรักพ่อ และอวยพรให้พ่อมีสุขภาพแข็งแรง เป็นพระในบ้านที่ให้ความอุ่นใจแก่ลูกๆ เสมอ

2. ทำซึ้งด้วยการเขียนเรียงความวันพ่อ
การเขียนเรียงความหรือเขียนกลอนวันพ่อเป็นกิจกรรมที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนส่งเสริมเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ สำหรับปีนี้ใครที่เป็นคนพูดไม่เก่งหรือเขินที่จะบอกรักพ่อ ลองใช้วิธีนี้เขียนบรรยายความรู้สึกแทนคำพูดได้

3. วาดรูปครอบครัวให้เป็นที่ระลึก
หลายคนอาจหลงลืมไปแล้วว่าสมัยเด็กๆ เรามักจะหยิบดินสอสีมาวาดรูปครอบครัวน่ารักๆ และภาพเหล่านั้นก็ยังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เพราะพ่อแม่อาจเก็บไปใส่กรอบแทนความทรงจำ ลองรำลึกความหลังด้วยการหยิบดินสอสีมาวาดภาพน่ารักๆ แบบนั้นให้พวกท่านอีกครั้ง

4. มอบของขวัญแทนใจจากลูกๆ
แน่นอนว่าพ่อของแต่ละคนต่างก็มีความชื่นชอบที่แตกต่างกัน เนื่องในโอกาสวันพ่อลองแอบเซอร์ไพรส์ด้วยการหาของขวัญแทนใจสักชิ้น แสดงถึงความใส่ใจในสิ่งที่พ่อชื่นชอบแล้วนำไปมอบให้เป็นของขวัญชิ้นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องแพง แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก
5. พาพ่อไปเที่ยว และทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน

กิจกรรมยอดฮิตที่ทำให้ครอบครัวสนิทสนมกันมากขึ้นคือ การได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และความสนิทสนมในครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติ แต่เราก็ควรให้ความสำคัญกับพ่อและครอบครัวในทุกๆ วัน “สวัสดีวันพ่อแห่งชาติ 2566

รัฐบาล เตรียมจัดกิจกรรม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ร.9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค.

นายกรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในนามรัฐบาลดำเนินการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566 ดังนี้

1.จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ในอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 เวลา 07.30 น. ประกอบด้วย ในส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง พระสงฆ์ จำนวน 189 รูป โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีพร้อมภริยา ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

2.จัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วย ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับในส่วนกลาง สำนักพระราชวังจะดำเนินการจัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งจะดำเนินการจัดพิธีเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

3.การเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประดิษฐานที่เวทีการจัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ทั้งในส่วนภูมิภาคและในต่างประเทศ

4.จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดำเนินการเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาให้วัดทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล ในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 สำหรับวัดไทยในต่างประเทศให้พิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

5.จัดทำสารคดีโทรทัศน์น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในนามคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อเผยแพร่ในช่วงวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ

6.จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และบำเพ็ญสาธารณกุศล ในเดือนธันวาคม 2566 ตามความเหมาะสม โดยประสานงานกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน และสำนักงานจิตอาสาภาครัฐ สำนักนายกรัฐมนตรี

ในการนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแสดงความจงรักภักดี และร่วมจัดกิจกรรมให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ โดยจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน จัดทำคำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจเพื่อเผยแพร่ ทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของหน่วยงาน ดำเนินการตลอดเดือนธันวาคม 2566

ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, มิวเซียมสยาม ,รัฐบาลไทย

Powered by GliaStudio

การศึกษาไทย

เว็บไซต์ข่าวสารการศึกษาของครูและบุคลากรทางการศึกษา อัพเดททุกวัน ติดตามเราเพื่อไม่พลาดความเคลื่อนไหว ของข่าวสารการศึกษา ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button