บทความ

ขั้นตอนการจัดกิจกรรมพิธีไหว้ครู เดือนมิถุนายน 2566

ขั้นตอนการจัดกิจกรรมพิธีไหว้ครู เดือนมิถุนายน 2566

ประวัติวันไหว้ครู เดือนมิถุนายน ความเป็นมาและความสำคัญพิธีไหว้ครู

ประวัติวันไหว้ครู

“ครู” มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า “หนัก” อันหมายถึงความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคนๆ หนึ่งจะเติบโตมีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลยในชีวิตของคนๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน ครูคนแรก ของเราแล้ว การที่เด็กๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ครู ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น ครู จึงเป็นบุคคลสำคัญเป็นที่สอง รองไปจากบิดามารดาที่เราทุกคน ควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน เพราะหากโลกนี้ ไม่มีผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ครู แล้ว สรรพวิชาต่างๆก็คงสูญหายไปจากพิภพ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงเป็น ครูของโลก พระองค์หนึ่ง ด้วยเหตุนี้เอง การบูชาครู การไหว้ครู จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมา แต่โบราณ ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต

ความสำคัญพิธีไหว้ครู

คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่าตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน

ครูมีหน้าที่ต่อศิษย์ตามหลักธรรมอยู่ 5 ประการคือ

1. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
3. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
4. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
5. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพและรู้จักดำรงรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี

ทางพุทธศาสนาก็สอนให้ศิษย์แสดงความคารวะนับถือตอบครูอาจารย์ 5 ประการเช่นกัน คือ

1. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ
2. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ ฯลฯ
3. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา
4. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
5. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ


พิธีไหว้ครูในโรงเรียน และดอกไม้ไหว้ครู

โดยปกติสถานศึกษามักจัดพิธีไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 หรือวันใดวันหนึ่งในราวเดือนมิถุนายนดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู ในพิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อน จะใช้ดอกไม้ในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่

หญ้าแพรก สื่อถึง เป็นหญ้าที่เติบโตเร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์ เมื่อได้รับการสั่งสอนก็พร้อมจะเรียนรู้ เหมือนดังหญ้าแพรกที่แม้บางครั้งจะเหี่ยวเฉาไป แต่เมื่อใดที่ได้รับน้ำก็พร้อมจะเติบโตทันที

ดอกเข็ม สื่อถึง สติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม

ดอกมะเขือ สื่อถึง มะเขือนั้นจะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง และดอกงอกงามได้อย่างรวดเร็ว

ข้าวตอก สื่อถึง ความรู้ที่แตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว เหมือนลักษณะของข้าวสาร เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว” นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ “คั่ว”คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนเหล่านั้นจะ “แตก”ฉานสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้

ระเบียบพิธีของนักเรียนในพิธีไหว้ครู

ก. การจัดสถานที่

ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ในที่อันสมควร อยู่บนเวทีทางด้านหน้าของที่ประชุม                            

1. พานหนังสือสำหรับประธานเจิม 
2. โถแป้งกระแจะสำหรับเติม
3. พุ่มดอกไม้
4. เชิงเทียน
5. กระถงธูป
6. ที่นั่งประธาน
7. แก้วน้ำ

ถ้าจะเพิ่มธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์อีกก็ได้

ข. สิ่งที่จะต้องเตรียมล่วงหน้าสำหรับนักเรียน

1. พานดอกไม้ ชั้นละ 1 พาน หรือกลุ่มละ 1 พาน มีดอกไม้ประกอบด้วยหญ้าแพรก ดอกมะเขือ จัดให้สวยงาม (ความหมายของเครื่องบูชาครูที่ใช้หญ้าแพรก ดอกมะเขือ และดอกเข็ม มีความหมายว่า
หญ้าแพรก หมายถึง ขอให้เรียนได้โดยรวดเร็วเหมือนหญ้าแพรก ซึ่งเจริญงอกงามเร็ว และทนต่อการเหยียบย่ำ คือคำดุด่าของครูอาจารย์
ดอกเข็ม คือ ขอให้สติปัญญาเฉียบแหลมเหมือนเข็ม
ดอกมะเขือ นั้นเปรียบเทียบว่า ดอกมะเขือจะคว่ำดอกลงเมื่อจะออกลูก เปรียบเหมือนว่านักเรียนที่ดีเรียนได้ผลนั้นต้องค้อมตัวลงเคารพครูอาจารย์ดุจการคว่ำลงของดอกมะเขือฉะนั้น)
2. ธูป เทียน กลุ่มหรือชั้นละ 1 ชุด หรือมากกว่านั้นก็ได้
3. กำหนดตัวนักเรียน ผู้ถือพานดอกไม้ และธูปเทียนชั้นละ 1 คน หรือกลุ่มละ 1 คน (จะใช้ 2 คนก็ได้ คนหนึ่งถือพานดอกไม้ อีกคนหนึ่งถือพานธูปเทียน)
4. ให้นักเรียน ท่องจำคำไหว้ครู และบทสวดมนต์ให้ได้ก่อนการทำพิธี
5. เลือกนักเรียน 1 คน เป็นผู้กล่าวคำไหว้ครู

ค. การจัดนักเรียน

1. จัดนักเรียนให้นั่งเป็นแถว แบ่งเป็น 2 ซีก ซ้ายและขวาของที่ประชุม เพื่อให้มีทางเดินตรงกลาง
2. ให้นักเรียนที่ถือพานดอกไม้ (แทนชั้นหรือกลุ่มต่างๆ) นั่งขวาสุดหรือซ้ายสุดของแถว ทั้ง 2 ซีกข้างหน้า หรือจะจัดนั่งอยู่ด้านหน้าก็ได้ แล้วแต่สถานที่ตามความเหมาะสม
3. ข้างหลังนักเรียนที่ถือพานดอกไม้ จัดระยะพอประมาณให้นักเรียนที่ถือธูปเทียน (แทนชั้น) นั่งสลับกันไปตามลักษณะนี้ จนครบจำนวนชั้น หรือจำนวนกลุ่มนักเรียนที่ถือพานดอกไม้ และถือธูปเทียน ส่วนนักเรียนคนอื่นๆ ก็ให้มีเครื่องสักการะ ธูป เทียน หญ้าแพรก ดอกเข็ม ดอกมะเขือ อยู่ในมือ จัดกรวยหรือที่ใส่เครื่องสักการะยิ่งดี

ง. พิธี

1. เมื่อผู้ที่เป็นประธานมายังที่ประชุมบนเวที ให้นักเรียนและผู้ที่อยู่ในที่ประชุมยืนขึ้นทำความเคารพประธาน
2. เมื่อประธานนั่งลง ให้ทุกคนที่อยู่ในที่ประชุมนั่งลง แล้วพิธีกรเรียนเชิญประธานจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย เมื่อประธานลุกยืนขึ้น ทุกคนยืนขึ้นในท่าสำรวม ถ้าประธานจุดเทียนเล่มแรก (เล่มทางด้านซ้ายมือของเรา) ให้ทุกคนประนมมือ เมื่อประธานกราบพระ ทุกคนยกมือขึ้นจบกลางหน้าผาก เสร็จเอามือลง
3. เมื่อประธานนั่งเรียบร้อยแล้ว เริ่มพิธี โดยพิธีกรนำสวดมนต์ไหว้พระโดยให้ทุกคนที่เข้าร่วมพิธียืนประนมมือ เมื่อไหว้พระเสร็จผู้เข้าร่วมพิธีนั่งลง ส่วนนักเรียนคงยืนอยู่เพื่อทำพิธีไหว้ครูต่อไป
4. นักเรียนผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำกล่าวนำคำไหว้ครูออกมายืนข้างหน้า แล้วสั่งให้นักเรียนทุกคนประนมมือและถือธูปเทียน เสร็จนำกล่าว ว่า ปาเจรา… นุสาสกา
5. เมื่อนักเรียนผู้กล่าวนำ ว่าจบวรรคแรกของบทแล้ว ก็ขึ้นต้นใหม่ว่า “ข้าขอประณตน้อมสักการ” นักเรียนทั้งหมดรับว่า “บูรพคณาจารย์”…………….ตามพร้อมกัน จนจบคำไหว้ครู ว่า “ไทย..เทอญ”  เมื่อจบแล้ว นักเรียนผู้กล่าวนำว่าคาถาสรุปท้ายว่า “ปญญาวุฑฒิกเร  เต  เต  ทินโนวาเท  นมามิหัง” เมื่อกล่าวเสร็จ ยกมือจบหน้าผากด้วยท่าทางนอบน้อมทุกคน ผู้นำสวดกลับที่เดิม นักเรียนทุกคนทำความเคารพแล้วนั่งลง ตอนนี้เริ่มเปิดเพลงสาธุการ ถ้าไม่มีดนตรี ให้เปิดเทปเพลงสาธุการแทนก็ได้
6. ให้นักเรียนที่ถือธูปเทียน เริ่มจุดธูปเทียน เมื่อเห็นว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว พิธีกรให้อาณัติสัญญาณนักเรียนที่ถือพานดอกไม้ ยืนขึ้นพร้อมกัน นำพานดอกไม้ขึ้นไปบนเวที นำพานดอกไม้ไปวางบนโต๊ะเล็กหน้าที่บูชา แล้วกราบลงพร้อมกัน 3 ครั้ง แล้วถอยออกมาทำความเคารพประธานด้วยการกราบลงในท่า กราบหมอบ 1 ครั้ง เสร็จกลับที่เดิม แล้วเปลี่ยนชุดใหม่ขึ้นไป การจัดขึ้นไปวางธูปเทียนและเครื่องสักการะนี้ ควรจัดให้เหมาะกับเวที อย่าให้เกิน 6 คน ในขณะที่นักเรียนวางเครื่องสักการะ ให้บรรเลงเพลงสาธุการต่อไปจนเสร็จพิธี
7. เมื่อนักเรียนวางเครื่องสักการะเสร็จครบทุกคนแล้ว ผู้นำนักเรียนพร้อมกับนักเรียนทุกคนลุกขึ้นยืน แล้วนำกล่าวคำปฏิญาณของนักเรียนว่า… ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า 
ข้อ 1 ข้าพเจ้าจะจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ข้อ 2 ข้าพเจ้าจะประพฤติปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่
ข้อ 3 ข้าพเจ้าจะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จะเป็นศิษย์ที่ดีของครูและพลเมืองดีของชาติ
เมื่อนักเรียนกล่าวคำปฏิญาณจบ แล้วนั่งลง พิธีกร เชิญประธานเจิมหนังสือ เมื่อประธานลุกขึ้นไปเจิมหนังสือ นักเรียนทุกคนยืนขึ้นพร้อมกัน ประธานเจิมหนังสือหรือจะเจิมหน้านักเรียนผู้ถือพานดอกไม้อีกก็ได้ เสร็จแล้วประธานกลับไปนั่ง นักเรียนนั่งลง เมื่อเพลงสาธุการจบ เชิญประธานกล่าวให้โอวาทแล้วเสร็จพิธี

Powered by GliaStudio

การศึกษาไทย

เว็บไซต์ข่าวสารการศึกษาของครูและบุคลากรทางการศึกษา อัพเดททุกวัน ติดตามเราเพื่อไม่พลาดความเคลื่อนไหว ของข่าวสารการศึกษา ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button