วิทยฐานะ

เปิดมุมมอง “ระบบการพัฒนาวิชาชีพครู” ในระดับนานาชาติ จากงานวิจัย…สู่แนวทางการปฏิบัติจริง (Ep.1)

ดาวน์โหลดไฟล์ประกอบ www.otepc.go.th

การวิจัยระบบและแนวทางปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพครู : จากแนวคิดการเรียนรู้เชิงวิชาชีพสู่การปฏิบัติ ที่จัดทำโดย รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ค.ศ.) นั้น ได้มีการอ้างอิงข้อมูลต่าง ๆ จากทั่วโลก ใช้ฐานข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์กร The National Center on Education and the Economy (NCEE) สหรัฐอเมริกา เป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ภาพรวมของระบบการพัฒนาวิชาชีพครูในระดับนานาชาติที่ครอบคลุมทั้งการฝึกหัดครูและการพัฒนาครูเป็นสายโซ่ที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยมีสมรรถนะเป็นตัวยึดโยงการเรียนรู้ตลอดช่วงวัยของวิชาชีพ (Lifelong learning as a system of teacher professional development) และเมื่อเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาของประเทศต่าง ๆ พบว่า ประเทศที่มีคุณภาพผลลัพธ์ทางการศึกษาในระดับสูง มีจำนวน 12 ประเทศ จึงได้ใช้ประเทศเหล่านี้เป็นกรณีศึกษาต้นแบบที่ดีในการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่ง 12 ประเทศที่ว่านี้ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน-เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ฟินแลนด์ เอสโตรเนีย แคนาดา และนิวซีแลนด์    

โดยบทความนี้หยิบยกข้อมูลจากการวิเคราะห์ระบบย่อยของการพัฒนาวิชาชีพครูในระดับนานาชาติตลอดจนข้อเสนอของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ทำการศึกษาและมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการปฏิรูปการฝึกหัดครูและการพัฒนาวิชาชีพครูในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2557-2562) มาให้ได้เห็นองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาที่น่าสนใจ

ระบบการกำหนดคุณสมบัติและจำนวนของผู้ที่จะเข้าเป็นนักศึกษาฝึกหัดครู (Selection criteria system)

1) ระบบที่เป็นอยู่

TDRI (2559ข) เสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ในช่วงปี 2556-2567 ครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1.9 แสนคน หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนครูทั้งหมดกำลังจะเกษียณอายุราชการ และโรงเรียนจะต้องบรรจุครูใหม่ประมาณ 1.6 แสนคนเข้ามาทดแทน หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนครูทั้งหมดในปี 2568 เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนในอนาคต นอกจากนี้นรายงานของ TDRI ยังวิเคราะห์ว่าในปี 2553-2556 มีผู้สมัครสอบบรรจุข้าราชการครูรวมกันประมาณ 4 แสนคน โดยสอบผ่าน 7.6 หมื่นคนและได้รับบรรจุจริง 3.7 หมื่นคน ซึ่งหมายถึง สพฐ. มีโอกาสคัดเลือกครูใหม่ในอัตรา 1 ต่อ 10 หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า การผลิตครูเกินความต้องการไปประมาณ 10 เท่า

ในการสอบคัดเลือกกลาง (Admission) ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2557 มีนักเรียนเลือกคณะศึกษาศาสตร์เป็นอันดับ 1 มากขึ้น จากร้อยละ 47 เป็นร้อยละ 56 แต่หลังจากคุรุสภาออกเกณฑ์ควบคุมการรับ 30 คน/ห้องเรียน และต้องมีอาจารย์นิเทศ 1 คนต่อนักศึกษา 10 คน ทำให้การรับนักศึกษาลดลงจาก 6.13 หมื่นคนในปี 2556 เหลือประมาณ 3.5-3.6 หมื่นคนในปี พ.ศ. 2558-2559 แต่ส่วนใหญ่สถาบันฝึกหัดครูต่าง ๆ มีอิสระในการรับ จึงใช้วิธีรับตรงและไม่ได้ใช้เกณฑ์คุณสมบัติร่วมกัน ไม่มีข้อมูลความต้องการครูในอนาคตรายสาขาสำหรับการวางแผนในการผลิตครู ดังนั้นสภาพที่ปรากฏจึงเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างผลิต ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นนักศึกษาฝึกหัดครูร่วมกันแต่อย่างใด ซึ่ง OECD/UNESCO (2016) ระบุว่าการที่แต่ละสถาบันฝึกหัดครูกำหนดวิธีการและเกณฑ์การคัดเลือกเองนั้น ทำให้บางสถาบันรับผู้สมัครทั้งหมดเข้าเรียน หรือบางสถาบันรับนักศึกษาครูแบบไม่ต้องสอบคัดเลือกถึงร้อยละ 25 ของนักศึกษาฝึกหัดครูทั้งหมดของประเทศในแต่ละปีก่อนที่คุรุสภาจะกำหนดเกณฑ์การรับนักศึกษา ในปี พ.ศ. 2557

2) องค์ความรู้ที่มีอยู่

การคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม (The right) เข้าสู่วิชาชีพครูเป็นเรื่องที่มีการค้นคว้าหาคำตอบอย่างกว้างขวาง ซึ่งจากงานวิจัยของ Barber และ Mourshed (2007) เสนอว่าการคัดเลือกคนที่เหมาะสมเข้าสู่วิชาชีพ เป็นการยกระดับสถานภาพวิชาชีพครูที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศที่การศึกษามีคุณภาพสูงจะรับนักศึกษาฝึกหัดครูจาก 1 ใน 3 ของผู้มีคะแนนสูงสุดในระดับมัธยมศึกษา
การรับกลุ่มร้อยละ 30 จากท้ายเข้าเรียนจะส่งผลต่อคุณภาพที่ต่ำลงของนักศึกษาครูและผู้จบการศึกษา และส่งผลต่อคุณภาพและทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนที่ออกไปสอน “บุคคลไม่สามารถให้สิ่งที่ตนเองไม่มีแก่คนอื่นได้” นอกจากนี้ Barber และ Mourshed ยังเสนอให้คัดเลือกผู้เข้าเรียนหลักสูตรฝึกหัดครูนอกจากคะแนน GPA ในกลุ่มที่ได้คะแนนร้อยละ 30 แล้ว ต้องกำหนดจากองค์ประกอบด้านมนุษยสัมพันธ์และทักษะการสื่อสาร และความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนและแรงจูงใจที่จะสอนด้วย

ซึ่งในกลุ่มประเทศ OECD ส่วนใหญ่จะกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานด้านวิชาการจากคะแนน GPA ในระดับมัธยมศึกษา และพิจารณาคุณลักษณะของผู้ที่จะเข้าหลักสูตรการฝึกหัดครูด้วยการสัมภาษณ์และการสอบคัดเลือกด้วยแบบทดสอบมาตรฐาน ในจำนวนประเทศทั้งหมดมีครึ่งหนึ่งที่จำกัดจำนวนรับนักศึกษาฝึกหัดครูเพื่อให้ผลิตไม่เกินความต้องการ (OECD, 2014a)

 เหตุผลสำคัญที่ต้องมีระบบการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเรียนนั้น Lauermann (2017) ศึกษาพบว่าความเชี่ยวชาญด้านการสอนของครูเป็นผลมาจากคุณลักษณะด้านจิตพิสัย แรงจูงใจ และการกำกับตนเองของครู นอกจากนี้ยังมีข้อคันพบที่ยืนยันว่า ความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่เป็นคุณลักษณะภายในและความยึดมั่นผูกพันกับวิชาชีพส่งผลต่อการปฏิบัติงานของครู รวมถึงการรับรู้ความสามารถด้านการสอน ซึ่งเป็นความเชื่อมั่นในความรู้เนื้อหาและวิธีการสอนที่ครูมี จะส่งผลต่อการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่าต้องนำคุณสมบัติเหล่านี้มาใช้ในการกำหนดคุณสมบัติเพื่อใช้ในการคัดเลือกนักศึกษาฝึกหัดครูร่วมกับคุณสมบัติด้านความรู้ทางวิชาการ

3) ต้นแบบที่ดีจากประเทศที่มีผลลัพธ์ทางการศึกษาสูง

ประเทศต่าง ๆ กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้นในการรับนักศึกษาฝึกหัดครู ดังนี้

จะเห็นได้ว่า แต่ละประเทศกำหนดคุณสมบัติเพื่อให้ได้คนเก่งเข้าเป็นนักศึกษาฝึกหัดครู และยังกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมเข้าสู่วิชาชีพครู เช่น สิงคโปร์ กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าเรียนหลักสูตรฝึกหัดครู นอกจากต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 30 ของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมดแล้ว ต้องสอบผ่าน Singapore’s A-level Exams ซึ่งเป็นการสอบที่ท้าทายมากสำหรับนักเรียนในสิงคโปร์ และต้องมีคะแนนอย่างต่ำอยู่ในกลุ่มปานกลางขึ้นไป

ฟินแลนด์เป็นอีกประเทศที่มีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับว่าครูมีคุณภาพสูง และอาชีพครูเป็นที่ยอมรับของสังคมในระดับสูง โดยจะให้ความสำคัญและเข้มงวดกับการกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะเข้าหลักสูตรฝึกหัดครูตั้งแต่ต้น โดยรับผู้จบมัธยมศึกษาที่มีคะแนนสูงสุดร้อยละ 10 เข้าเรียนเท่านั้น

ในบางประเทศอาจไม่ได้กำหนดร้อยละของนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดที่จะรับเข้าเรียนไว้ แต่วิชาชีพครูมีสถานภาพเป็นที่ยอมรับสูงในสังคม ดังนั้นจึงมีอัตราการแข่งขันสูง ทำให้เป็นการคัดเลือกเป็นไปอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้คนเก่งเข้าสู่วิชาชีพ ตัวอย่างเช่น แคนาดา เนื่องจากสถานภาพของอาชีพครูในแคนาดาได้รับการยอมรับและเงินเดือนสูงมาก ดังนั้นแต่ละรัฐของแคนาดาจะกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าเรียนในหลักสูตรฝึกหัดครูไว้สูงมาก ซึ่งการคัดเลือกเป็นไปอย่างเข้มงวดตามเกณฑ์ที่แต่ละรัฐกำหนดขึ้นเอง หรือนิวซีแลนด์ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเรียนหลักสูตรฝึกหัดครูไว้สูงมาก โดยพยายามคัดเลือกจากกลุ่มที่มีผลการเรียนสูงสุดในระดับชั้นมัธยมศึกษาเท่านั้น และกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติพื้นฐานคือ ผู้เข้าเรียนต้องผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยและต้องมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษในระดับสูง หรือไต้หวันก็เช่นเดียวกัน แม้ไม่ได้กำหนดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำในการสมัครเข้าเรียนหลักสูตรฝึกหัดครูแต่มีอัตราการแข่งขันในการเข้าเรียนสูง ดังนั้นจึงมีความเข้มงวดในการคัดเลือกอย่างมาก

 4) ข้อเสนอขององค์กรต่าง ๆ

ในประเด็นการกำหนดคุณสมบัติเพื่อให้ได้คนเก่งเข้าเป็นนักศึกษาฝึกหัดครูนี้ TDRI (2559ก) เสนอว่า ต้องลดจำนวนการรับนักศึกษา และเน้นการคัดเลือกนักเรียนเก่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยรับนักศึกษาให้มีจำนวนใกล้เคียงกับความต้องการในการใช้ครู ซึ่งจะเอื้อให้การฝึกหัดครูมีคุณภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สถาบันฝึกหัดครูต้องรับนักศึกษาไม่เกินกว่าความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์และสถานที่ และสถาบันฝึกหัดครูควรกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษาร่วมกัน หรือการจัดการสอบกลางร่วมกัน

สภาปฏิรูปแห่งชาติ  (สปช.) เสนอให้ปรับระบบการผลิตครูใหม่ให้เป็นการผลิตในระบบจำกัดรับเพื่อเน้นการคัดเลือกคนเก่งเข้าเรียนครู และจัดกลุ่มสถาบันผลิตครูตามสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศเพื่อให้ครูที่สำเร็จการศึกษาไป สามารถปฏิบัติงานได้สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ลดการโยกย้าย และผลิตไม่เกินความต้องการใช้ครู ขณะที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กปอศ.) เสนอให้ครูรุ่นใหม่ที่ได้รับการบรรจุไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจบการศึกษาโดยผ่านระบบกองทุนผลิตและพัฒนาครู ซึ่งต้องมีการกำหนดเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเข้มงวดนอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2560) ยังเสนอให้กำหนดมาตรการที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้บุคคลที่มีความสามารถสูง และมีอุดมการณ์มุ่งมั่นศรัทธาต่อวิชาชีพครู เข้ามาสู่วิชาชีพครู โดยกำหนดสัดส่วนการผลิตครูที่มีคุณภาพสูงจากโครงการพิเศษต่าง ๆ ให้มีจำนวนมากกว่าสามในสี่ของปริมาณความต้องการใช้ครูในอนาคต

 ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้จากนานาชาติ ที่สะท้อนให้เห็นทิศทางของการพัฒนาระบบวิชาชีพครู ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาระบบที่ควรจะเป็น นอกจากนี้งานวิจัยระบบและแนวทางปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพครู : จากแนวคิดการเรียนรู้เชิงวิชาชีพสู่การปฏิบัติ ยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นระบบการพัฒนาวิชาชีพครูที่น่าสนใจของ 12 ประเทศต้นแบบอีกหลายมุมมอง ซึ่งเราจะได้นำมาชวนให้อ่าน ชวนกันคิด ชวนกันเปิดมุมมองของการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป อย่าลืมติดตามนะคะ

 ที่มา : ระบบและแนวทางการปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพครู จากแนวคิดการเรียนรู้เชิงวิชาชีพสู่การปฏิบัติ Systems for Teacher Professional Development and Reform: Transforming Conceptions of Professional Learning to Practices โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา (IRES) 2562

Powered by GliaStudio

การศึกษาไทย

เว็บไซต์ข่าวสารการศึกษาของครูและบุคลากรทางการศึกษา อัพเดททุกวัน ติดตามเราเพื่อไม่พลาดความเคลื่อนไหว ของข่าวสารการศึกษา ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ชุดข้าราชการ ชุดข้าราชการหญิง ชุดกากี ชุดข้าราชการ shopee
Back to top button