การขับเคลื่อนกระบวนการ PLC โดยใช้ Moral Model
การพัฒนาห้องเรียนแห่งคุณภาพ โรงเรียนแห่งคุณธรรม สพฐ. ในฐานะเป็น Professional Learning Community : PLC ครูผู้ปฏิบัติงานต้องมีหลายบทบาท อันได้แก่ บทบาท Model Teacher (ครูผู้สอน) Buddy (ครูร่วมการเรียนรู้) Expert (ผู้เชี่ยวชาญ) Mentor (ฝ่ายวิชาการ/หัวหน้ากลุ่มสาระฯ) Administrator (ผู้บริหาร สถานศึกษา) เป็นต้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนคุณภาพ คือ นักเรียนแต่ละคนและทุกคนจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากครูให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ตรงความสนใจ เต็มศักยภาพ และครบตามมาตรฐานหลักสูตร ฉะนั้นในการพัฒนาห้องเรียนแห่งคุณภาพสู่โรงเรียนแห่งคุณธรรม สพฐ. คณะครูจะต้องมีการเข้าร่วมกลุ่มชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อปรับเปลี่ยนผู้เรียนให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามกรอบแนวคิดโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. มีกรอบแนวคิดคุณธรรม 5 ประการ ประกอบด้วย ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ อุดมการณ์คุณธรรม ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา – 2019 โรงเรียนบ้านโป่งไผ่ได้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งแบบออนไลน์และแบบออนไซต์ ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง รวมถึงการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้กับผู้เรียน ถึงแม้จะการมีดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่ด้วยพื้นฐานครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ปกครองมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักเรียน เช่น โทรศัพท์มือถือ แทปเล็ต ทำให้นักเรียนใช้เวลาส่วนมาก ในการเล่นเกม เล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ค และมีการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย จนละเลยการทำการบ้านและทบทวนความรู้ อีกทั้งผู้ปกครองส่วนมากทำงานในโรงงานในเขตอุตสาหกรรม 304 ต้องเข้าทำงานตั้งแต่เช้าตรู่และกลับถึงบ้านอีกทีในเวลาดึก ครอบครัวจึงไม่มีเวลาได้อยู่ร่วมกัน ทำให้นักเรียนบางส่วนขาดการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการอบรมดูแลนักเรียน และไม่ได้เอาใจใส่เรื่องความประพฤติที่ดีของนักเรียนเท่าที่ควร เพราะบางครอบครัวนักเรียนบางคนต้องอยู่ในห้องพักคนเดียว บางส่วนอาศัยอยู่กับ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้ปกครองอื่นที่ไม่ใช่บิดามารดา จึงทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ในเรื่องของความมีวินัย ความรับผิดชอบ และความพอเพียง ซึ่งผู้ปกครองมุ่งหวังจะให้โรงเรียนช่วยดูแล ปรับปรุงพฤติกรรม และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รวมถึงปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีงามให้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนเติบโตขึ้นไปเป็นคนดีของสังคมต่อไป ๒. วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของสถานศึกษา เพื่อให้ครูได้พัฒนาตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการร่วมมือรวมพลังของทุกฝ่ายในการพัฒนาการเรียนการสอนสู่คุณภาพของผู้เรียน ๓. วิธีดำเนินงาน 3.1 แนวทางการปฏิบัติกิจกรรมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ดังนี้ 3.1.1 แบ่งกลุ่มย่อยตามความเหมาะสม 3.1.2 ให้แต่ละกลุ่มคิดแนวทางแก้ไขปัญหา 1 เรื่องจากประเด็นต่อไปนี้ – ปัญหาด้านพฤติกรรมของนักเรียน ที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่พบ และควรเร่งแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น 3.1.3 จัดทำโครงการ/กิจกรรม การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) 3.2 กระบวนการของ PLC ขั้นตอนที่ 1 Community สร้างทีมครู ขั้นตอนที่ 2 Practice วิเคราะห์พฤติกรรมนักเรียนที่ต้องปรับและแก้ไข ร่วมกันออกแบบกิจกรรม เพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนา และนำสู่การปฏิบัติ โดยมีการสังเกตพฤติกรรมนักเรียนเป็นระยะๆ ขั้นตอนที่ 3 Reflection สะท้อนคิดเพื่อการพัฒนาการปฏิบัติ ขั้นตอนที่ 4 Evaluation ประเมินเพื่อพัฒนา ขั้นตอนที่ 5 Network Development สร้างเครือข่ายการพัฒนา 3.3 บทบาทหน้าที่ของสมาชิกกลุ่มตามกระบวนการ PLC ประกอบด้วย 3.3.1 Model Teacher หมายถึง ครูผู้รับการนิเทศ หรือครูผู้สอน 3.3.2 Buddy Teacher หมายถึง ครูคู่นิเทศ หรือครูร่วมเรียนรู้ 3.3.3 Mentor หมายถึง หัวหน้าระดับ / หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ 3.3.4 Expert หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญ เช่น ครู คศ.3 รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ศึกษานิเทศก์ 3.3.5 Administrator หมายถึง ผู้บริหารโรงเรียน ขั้นตอนการนำรูปแบบ PLC ไปใช้ในสถานศึกษา จาก Flow Chart ขั้นตอนการนำรูปแบบ PLC ไปใช้ในสถานศึกษามีรายละเอียด แต่ละขั้นตอน ดังนี้ การรวมกลุ่ม PLC รวมกลุ่มครูที่มีปัญหา/ความต้องการ เดียวกัน เช่น ครูกลุ่มสาระเดียวกัน ครูที่สอนในระดับชั้นเดียวกัน เป็นต้น ค้นหาปัญหา ความต้องการ ร่วมกันเสนอปัญหา/ความต้องการ จัดกลุ่มปัญหา จัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วน เลือกปัญหาเพียง 1 ปัญหา โดยการพิจารณาร่วมกัน ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา เรื่องเล่าเร้าพลัง/บอกเล่าประสบการณ์ที่แก้ปัญหาได้สำเร็จ ค้นหาตัวอย่าง/รูปแบบที่ประสบความสำเร็จ ร่วมกันตัดสินใจเลือกรูปแบบ/วิธีการ/นวัตกรรมในการแก้ปัญหา ออกแบบกิจกรรมการแก้ปัญหา ออกแบบกิจกรรมตามวิธีการ/นวัตกรรมที่กลุ่มเลือก แลกเปลี่ยนเสนอแนะ นำเสนอกิจกรรมการแก้ปัญหา ให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ให้ข้อเสนอแนะ นำสู่การปฏิบัติ /สังเกตการสอน นำกิจกรรมไปใช้ในการแก้ปัญหา ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น การเยี่ยมชั้นเรียน สังเกตการสอน เป็นต้น สะท้อนผล สรุปผลการนำรูปแบบ/วิธีการ ในการนำไปแก้ปัญหา อภิปรายผลการแก้ปัญหา เสนอแนะแนวทางในการพัฒนา ผลการดำเนินงาน ผลการจัดกิจกรรมการสร้างชุมชนห้องเรียนรู้ PLC ในระดับชั้น ป.1 – 3 เรื่อง ความมุ่งมั่น ในการทำงาน จากการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนด้านความมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านความมุ่งมั่นในการทำงานของนักเรียน – ประเด็นด้านผู้เรียน – พฤติกรรมของนักเรียนที่มีปัญหาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นตามข้อตกลงที่ตั้งไว้ นักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งดูผลได้จากหลักฐานแบบบันทึกการเข้าเรียนนักเรียน ที่แสดงถึงพฤติกรรมที่ดีของนักเรียน – ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดี ในด้านมุ่งมั่นในการทำงาน การเข้าเรียน การส่งงาน การมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับเพิ่มมากขึ้น – นักเรียนมีกำลังใจจากการเสริมแรง และภูมิใจในตนเอง อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียนด้วยกันเองเพิ่มมากขึ้น – นักเรียนมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์หลายประการ เช่น ได้พูดคุย ถกเถียง อย่างมีเหตุผล และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น – ประเด็นด้านกิจกรรม – ลักษณะ ความเหมาะสม ประสิทธิภาพของกิจกรรม ขั้นตอนของกระบวนการ วิธีการนำการ์ดสะสมคะแนน มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ – ครูจัดนำการ์ดสะสมคะแนน ใช้เพื่อให้นักเรียนเข้าเรียนตรงตามเวลา ส่งงานครบทุกชิ้นงานตลอดจนเอกสารประกอบ การบันทึก แบบบันทึกการเข้าเรียนของนักเรียน ทำให้ผู้เรียนได้รับรู้และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในทุกๆวัน – กิจกรรมมีความเหมาะสม สอดคล้องกับการแก้ไขพัฒนาพฤติกรรมด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนในเรื่อง มุ่งมั่นในการทำงาน – การบริหารจัดการในชั้นเรียน การจัดชั้นเรียน วิธีการคุมชั้นเรียน หรือการจัดกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม – ครูและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์/การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้การฝึกปฏิบัติดำเนินไปโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ – ประเด็นด้านครู – ครูใช้การแบบบันทึกการเข้าเรียนของนักเรียนเพื่อดูสภาพปัญหาที่จะร่วมกันนำมาแก้ไขในชั้นเรียน – ครูมีการเรียงลำดับขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาจากเรื่องที่มีปัญหามากไปน้อย – ครูจะทำหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ คำปรึกษา และคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยตนเอง สร้างแรงเสริมในทางที่ดีและเหมาะสมให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในการแสดงออกทางพฤติกรรมด้านบวก