การขับเคลื่อนระบบคลังสื่อ OBEC CONTENT CENTER โดยใช้รูปแบบ SCHOOL MODEL

กระดานสนทนา เผยแพร่ผลงานวิชาการหมวดหมู่: เผยแพร่ผลงานวิชาการการขับเคลื่อนระบบคลังสื่อ OBEC CONTENT CENTER โดยใช้รูปแบบ SCHOOL MODEL
ศิวพร กาจันทร์ asked 7 เดือน ago

การบริหารสถานศึกษาในยุคดิจิทัลเป็นความท้าทายอย่างมากในการบริหารการศึกษา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความเป็นพลวัติของโลกที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ทำให้ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประเด็นสำคัญในการบริหารการศึกษาในยุคดิจิทัล คือการสร้างวัฒนธรรมของสถานศึกษาที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง การจัดการความรู้ในสถานศึกษาในยุคดิจิทัลและการทำงานเป็นเครือข่าย รวมไปถึงสร้างการยอมรับเทคโนโลยีนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง และการเข้าถึงเทคโนโลยีของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้การศึกษาสามารถเดินทางสู่อนาคตที่โลกกำลังก้าวไปได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญในกระบวนการพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียน ต้องเริ่มจากผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องพัฒนาตนเองให้พร้อมต่อเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบดิจิทัล นำมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนองค์กรทางการศึกษาและพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษา เพื่อตอบสนองต่อการศึกษาในอนาคตรวมไปถึงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม (ทินกร เผ่ากันทะและกัลยารัตน์ เมธีวีรวงศ์, 2565) และจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในสถานศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางด้านจัดการเรียนการสอน การวิจัยในชั้นเรียนหรือการวิจัยของสถานศึกษา การบริหารจัดการ ตลอดจนการสื่อสารทุกระดับ สถาบันการศึกษาหลายแห่งจึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาและบุคลากรให้มีคุณภาพ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน ประเทศไทยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่งและมีคุณภาพ โดยประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ในประเด็นที่ 3 คือ ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้และมีใจใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา โดย (๑) การปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ (๒) การเปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่ (๓) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษาในทุกระดับ ทุกประเภท (๔) การพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (๕) การสร้างความตื่นตัวให้คนไทยตระหนักถึงบทบาท ความรับผิดชอบ และการวางตำแหน่งของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และประชาคมโลก (๖) การวางพื้นฐานระบบรองรับการเรียนรู้โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ (๗) การสร้างระบบการศึกษาเพื่อเป็นเลิศทางวิชาการระดับนานาชาติ (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 82 ก, 13 ตุลาคม 2561) ประกอบกับแผนการศึกษาชาติได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ ๒๑”และได้วางเป้าหมายไว้ ๒ ด้าน คือ (1) เป้าหมายด้านผู้เรียน (Learner Aspirations) โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ (3Rs8Cs) และ (2) เป้าหมายของการจัดการศึกษา (Aspirations) ที่ต้องการให้ประชากรทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการศึกษาและได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างทั่วถึง (Access) เท่าเทียม (Equity) มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสนองตอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นพลวัตและบริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy)    พร้อมทั้งมีระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2560) และพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560-2580 ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานวิถีใหม่ วิถีคุณภาพ เพื่อต่อยอดพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็น วิถีอนาคต วิถีคุณภาพ ประกอบกับนโยบายและจุดเน้นของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นโยบายที่ 3 ปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัยและหลากหลาย และนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ประเด็นลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง ที่เน้นและส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567-2568 และนโยบายเร่งด่วน (Quick win) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567. 14 พฤศจิกายน 2566)

Powered by GliaStudio
Back to top button