การนำ OKRs ไปใช้ในงานประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน การบริหารองค์กรในทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องมีการปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่โลกในศตวรรษที่ 21 ไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษาที่ต้องพัฒนาระบบการบริหารต่างๆ เพื่อเข้าสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 คำว่า “การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21” ย้ำให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ และระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว โดยไม่ใช่แค่การปฏิรูปเพียงครั้งคราว แต่ต้องเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคมและตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ซึ่งผู้กำหนดนโยบายและบุคลากรด้านการศึกษาของไทยล้วนตระหนักว่า การศึกษาควรจะมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและสอดคล้องกับสังคมในอนาคต
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕ จังหวัดพังงา เป็นหน่วยงานภาครัฐ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสในลักษณะอยู่ประจำ โดยมีแนวคิดและปรัชญาการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นคงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างผู้นำในชุมชนท้องถิ่น ฝึกทักษะพื้นฐานงานอาชีพและสร้างจิตสำนึกในความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์แก่เด็กด้อยโอกาสให้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมในอนาคต ได้จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรสถานศึกษา โดยเน้นการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน มีทักษะพื้นฐานงานอาชีพ มีทักษะการดำรงชีวิตที่มี คุณภาพตลอดจนมองลู่ทางการประกอบอาชีพในอนาคตได้
เนื่องด้วยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕ จังหวัดพังงานั้น เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กด้อยโอกาส และเป็นโรงเรียนลักษณะอยู่ประจำ กลไกสำคัญที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงเรียนนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และมีกระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีมาตรฐาน ปฏิบัติงานได้อย่างเป็นระบบ สามารถผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณภาพตามความมุ่งหวังของผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กร/สถานประกอบการ ดังนั้นกระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาในปัจจุบัน และต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
การประกันคุณภาพการศึกษา
คุณภาพการศึกษา หมายถึง การบ่งชี้คุณลักษณะที่มีความเป็นเลิศ ทางด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการบริหารและด้านวิชาการ โดยผ่านกระบวนการผลิต เป็นระบบ ประกอบด้วยปัจจัยนำเข้า การบวนการ และผลผลิตตามกรรมวิธี การวัดด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของสังคม
การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการทางการศึกษาทั้งผู้รับบริการโดยตรงได้แก่ ผู้เรียนและผู้ปกครอง และผู้รับบริการทางอ้อมได้แก่ สถานประกอบการและประชาชน
ดังนั้น การประกันคุณภาพการศึกษา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งจะต้องมีบทบาทและหน้าที่สำคัญ ในการพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน
ความจำเป็นของการประกันคุณภาพการศึกษา
การจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพื่อทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคนได้รับการการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้เป็นคนที่รู้จักคิดวิเคราะห์รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มี คุณธรรม จริยธรรม รู้จักพึ่งตนเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา
มาตรา 47 ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วยการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก
ความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา
การประกันคุณภาพการศึกษา มีความสำคัญ 3 ประการ คือ
- ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลคุณภาพการศึกษาที่เชื่อถือได้ เกิดความเชื่อมั่นและสามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
- ป้องกันการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเกิดความเสมอภาคในโอกาสที่จะได้รับการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
- ทำให้ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษามุ่งบริหารจัดการศึกษาสู่คุณภาพและมาตรฐานอย่างจริงจัง ซึ่งมีผลให้การศึกษามีพลังที่จะพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
OKRs
OKRs ย่อมาจาก Objective and Key Results เป็นระบบบริหารจัดการที่เน้นเรื่อง การตั้งเป้าหมายและการติดตามผลในสิ่งที่สำคัญโดยสร้างจากแรงจูงใจภายใน ช่วยผลักดันให้องค์กรไปถึงเป้าหมายได้อย่างสำเร็จ ซึ่งตัวอักษร O ย่อมากจากคำว่า Objective หมายถึง วัตถุประสงค์หลัก ที่เป็นการบ่งบอกถึงเป้าหมายของหน่วยงาน K และ R ย่อมาจากคำว่า Key Results หมายถึง ผลลัพธ์หลักที่จะทำให้เป้าหมายหรือ Objectives ของเราสำเร็จ
OKRs มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากเครื่องมือตั้งเป้าหมายและวัดผลตัวอื่นๆ เพราะจะกำหนดเป้าหมายหรือ Objective เพียงไม่กี่ข้อ เพื่อให้เราสามารถจดจ่อกับเป้าหมายและมุ่งมั่นทำจนสำเร็จให้ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ หลักการที่นิยมในการตั้ง OKRs ยังมักตั้งแบบ “เกินตัว” หรือไกลกว่าความสำเร็จเดิม เพื่อผลักดันให้ทั้งคนและองค์กรเติบโตได้อย่างรวดเร็ว OKRs จึงมีข้อได้เปรียบกว่าเครื่องมือตัวอื่น เช่น
ยืดหยุ่นและทันความเปลี่ยนแปลง หากเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นก็จะสามารถปรับหรือเบนทิศทางองค์กรให้ทันกับโอกาสใหม่ๆ ได้ แตกต่างจาก KPI ที่ต้องรอประเมินเมื่อสิ้นปี
เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งจากข้อผิดพลาดและอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตลอด เพื่อที่จะหาวิธีการที่ได้ผลมากกว่า
ทลายขีดจำกัดความสามารถและความเป็นไปได้ เพราะลักษณะการตั้ง OKRs มักจะตั้งเป้าหมายที่ไกลกว่าที่เคยทำได้ ในระยะเวลาที่จำกัด ช่วยให้คนทำงานหรือองค์กรพร้อมเอาชนะความสำเร็จเดิม และออกไปพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘คน’ ด้วยการประเมินที่ไม่ได้ต้องการความสำเร็จที่สมบูรณ์ แต่ยังเหลือพื้นที่สำหรับความท้าทายและความผิดพลาดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อให้คนพัฒนาตัวเอง นอกจากนี้ ทุกคนในองค์กรจะต้องมีส่วนร่วมในการตั้ง OKRs ของบริษัท นั่นหมายความว่า ทุกไอเดียสำคัญ
เปิดทางสำหรับความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากการมีส่วนร่วมในการคิด OKRs ของทุกคนในองค์กร อาจทำให้พบกับไอเดียใหม่ๆ โดยไอเดียที่ใช้ได้อาจมาจากคนที่ปฏิบัติงานจริง ไม่ใช่ผู้บริหารหรือคนที่วางกลยุทธ์เท่านั้น
หลักการสำคัญของ OKRs
- การกำหนด Objective เป็นการกำหนดรายไตรมาส หรือทุก 3 เดือน (ไม่ใช่รายปีเหมือนปัจจุบัน) ส่วนการวัดผล Key results อาจจะวัดเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน (เพราะวัตถุประสงค์หนึ่งมีกำหนดเวลาแค่ 3 เดือน)
- การกำหนด Objective ไม่ต้องเยอะ ประมาณ 3-5 ข้อ รวมทั้งการกำหนด Key results ด้วย ประมาณ 3 ข้อ ต่อหนึ่ง Objective โดย Key results จะกำหนดตามหลักการ SMART Goal
- การกำหนด Objective จะกำหนดจากระดับองค์กรลงมาสู่หน่วยงานและระดับบุคคล โดยต้องให้ บุคลากรมีส่วนร่วมในการกำหนด อย่างน้อย 50% จะเป็นลักษณะผสมผสานระหว่าง Top Down และ Bottomup Approach เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
- OKRs ยืดหยุ่นได้เมื่อมีปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องปรับ OKR ก็ปรับตามได้
- การกำหนดเป้าหมายตาม OKR จะตั้งไว้ที่ 60-70% ไม่ใช่ 100% เหมือนที่เราคุ้นเคย เหตุผลที่ตั้งไม่ถึง 100% ก็เพื่อให้บุคลากรมีแรงขับ เพื่อจะทำให้ได้ดีกว่าเป้าหมายตลอดเวลา
- การกำหนด OKR ทำเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา ไม่ใช่เพื่อการให้รางวัล
การนำ OKRs ไปใช้
- อธิบายทำความเข้าใจให้บุคลากรในองค์กรเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด OKR
- ออกแบบวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลักให้สอดคล้องเชื่อมโยงทั้งองค์กร
- สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงวิธีการใช้ OKR ก่อนเริ่มนำไปใช้ปฏิบัติงาน
- ทุกคนในองค์กรควรมองเห็น OKR ของคนอื่นได้ด้วย เพื่อให้การสามารถวิเคราะห์ถึงวัตถุประสงค์และ ผลลัพธ์หลักของบุคคลหรือหน่วยงานอื่นในองค์กรให้มีความสอดคล้องกัน
- ควรมีการใช้งาน OKR อย่างสม่ำเสมอ และควรมีการจัดทำ OKRs ของแต่ละบุคคลเป็นรายไตรมาส ราย ครึ่งปี หรือรายปี
OKRs กับ การประกันคุณภาพการศึกษา
วิธีที่จะนำเครื่องมือ OKRs ไปปรับใช้กับการประกนคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาให้เกิดผลสำเร็จ อาจต้อง เริ่มต้นจากการทำให้ทุกคนในสถานศึกษาเข้าใจในเป้าหมาย และพร้อมก้าวเดินในทิศทางเดียวกัน เรียกว่า การสร้างความสอดคล้อง เริ่มจากตั้งโจทย์เพื่อหาวิธีส่งเสริม OKRs ของภาพใหญ่ในระดับ สถานศึกษา ถัดลงมาที่การผลักดันในระดับหน่วยงาน หรือระดับทีมที่อาจนำ O หรือ KRs ของ สถานศึกษา มาเป็น O ของหน่วยงาน ในระดับบุคคลก็สามารถนำ O หรือ KRs ของหน่วยงานหรือทีม มาเป็น O ของบุคคลได้เช่นกัน ซึ่งในระดับบุคคล จะสามารถพิจารณาได้ว่า KRs ที่มีอยู่นั้นมีความ สอดคล้อง หรือเชื่อมโยงกับ KRs ของบุคคลในทีมอื่นอย่างไร และเรากำลังทำงานอย่างสอดคล้อง ภายใต้ทิศทางเดียวกันของสถานศึกษาหรือไม่ ซึ่งทำให้การดำเนินงานตาม OKRs นั้นมีประสิทธิภาพ
Objective and Key Results เป็นแนวคิดการบริหารแบบแนวราบทุกคนมีส่วนคิดและรับผิดชอบ ร่วมกัน ช่วยให้ทุกคนทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทำให้คนในองค์กรโฟกัสได้ตรงจุด สอดคล้อง กับเป้าหมายที่องค์กรต้องการจริงๆ สร้างกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและวัดผลได้ และสร้างความโปร่งใสของกระบวนการทำงานภายในองค์กร เห็นภาพการทำงานร่วมกันทั้งองค์กร โดยมีเป้าหมายของทุกๆคน
สอดคล้องกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานศึกษาแต่ละแห่งจะได้รับอิสระในการออกแบบระบบการประกันคุณภาพ การประกันคุณภาพการศึกษาเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ทางผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงเครื่องมือการบริหารใหม่ๆ และคิดเชื่อมโยงกับ
การนำ Objectives & Key Results (OKRs) ไปใช้ไนการประกันคุณภาพการศึกษา
ขั้นตอนการดำเนินงาน ต้องเริ่มจากการอธิบายทำความเข้าใจให้บุคลากรในองค์กรเข้าใจ เกี่ยวกับแนวคิด OKRs จากนั้นออกแบบวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลักให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งองค์กร โดยสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงวิธีการใช้ OKRs ก่อนการนำไปปฏิบัติ ซึ่งมีขั้นตอนหลัก 2 ขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นการตั้งวัตถุประสงค์ (Objectives)
1.1 ผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งวัตถุประสงค์หลักขององค์กร ประมาณ 3-5 ช้อ โดย จะต้องมีความสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา และระบุให้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์หลักที่ผู้บริหาร โรงเรียนตั้งขึ้นนั้นจะมีส่วนช่วยให้วัตถุประสงค์รองลงมาประสบความสำเร็จได้อย่างไร
1.2 หัวหน้าวิชาการและคณะครู สร้างวัตถุประสงค์ ของแต่ละฝ่ายขึ้นมา และให้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลัก (Objectives) ของโรงเรียนที่ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ตั้งไว้
1.3 หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ สร้างวัตถุประสงค์ ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ (Objectives) ของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้และวัตถุประสงค์ หลักของผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้ตั้งไว้
1.4 ครูแต่ละคนสร้างวัตถุประสงค์ของตนเองขึ้นมา และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ (Objectives) ของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ หัวหน้าวิชาการแนะวัตถุประสงค์หลักของ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้ตั้งไว้
- ขั้นตอนการหาผลลัพธ์หลัก (Key results)
2.1 การหาผลลัพธ์หลัก (Key results) จะต้องวัดผลได้ง่ายและมีค่าเป้าหมายที่ชัดเจน
2.2 จะต้องวัดผลเชิงปริมาณได้อย่างชัดเจน โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องสามารถนำมาแปลงเป็นคะแนนได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำ OKRs ควรมีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน สำหรับ การบรรลุความสำเร็จของวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลัก ควรสร้างระบบการรายงานผลที่ทำ ให้ข้อมูลเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้โดยตรง และทุกครั้งเมื่อมีการวัดผลเกิดขึ้น จำเป็นต้องมี ข้อคิดเห็นต่อผลที่ได้รับ แต่ผลที่ ได้รับนั้นจะต้องไม่ใช่เป็นการทำโทษหรือลงโทษครูแต่เพื่อประโยชน์ ทางการจัดการเรียนการสอนของครูการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนและการบริหารจัดการ สถานศึกษาของผู้อำนวยการโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
สรุป
ด้วยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕ จังหวัดพังงา เป็นหน่วยงานภาครัฐ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ที่จัดการเรียนการสอนเป็นลักษณะโรงเรียนอยู่ประจำ ตั้งแต่ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ สำหรับเด็กด้อยโอกาส ดังนั้นนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕ จังหวัดพังงาบางส่วนนั้น จะมีการเรียนรู้ที่ค่อนข้างช้า มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง ความใส่ใจในการเรียนค่อนข้างน้อย และมีการย้ายเข้าออกของนักเรียนอยู่เป็นประจำ ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ค่อนข้างต่ำโรงเรียนในสังกัดการศึกษาพิเศษจึงมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนไปที่ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เพื่อที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิต และทักษะอาชีพติดตัว และสามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพในอนาคตได้
การที่โรงเรียนจะผลิตนักเรียนที่มีประสิทธิภาพออกไปสู่สังคมภายนอกนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงเรียนทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริหาร และครู โรงเรียนจะมีบริบท และการบริหารงานที่ค่อนข้างจะแตกต่างกับโรงเรียนทั่วไป ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการบริหารงานนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเข้าใจและมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเครื่องมือสำหรับบริหารจัดการที่เน้นเรื่อง การตั้งเป้าหมายและการติดตามผลในสิ่งที่สำคัญโดยสร้างจากแรงจูงใจภายในที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่จะนำมาใช้สำหรับการบริหารการศึกษาก็คือ Okrsเพราะจะกำหนดเป้าหมายหรือ Objective เพียงไม่กี่ข้อ เพื่อให้เราสามารถจดจ่อกับเป้าหมายและมุ่งมั่นทำจนสำเร็จให้ได้
การนำ Okrs มาใช้ในงานประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕ จังหวัดพังงา ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ขั้นแรก บุคลากรทุกคนในสถานศึกษาต้องทำความเข้าใจกับหลักการของ Okrs ก่อน จากนั้นจึงร่วมกับผู้บริหารกำหนดเป้าหมายหลักของโรงเรียน ส่งต่อไปยังแต่ละฝ่ายงานเพื่อกำหนดเป้าหมายของแต่ละฝ่ายให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของโรงเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับฝ่ายงาน และบุคลากรทุกคนตั้งเป้าหมายหลักของตนเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มสาระ ทั้งนี้จะต้องมีกรอบระยะเวลา การวัดและติดตามผลของเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
อ้างอิง
– สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. รายงานผลการศึกษาแนวทางการจัดทําระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษาที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยใช้แนวคิดระบบการวัดผลแบบ OKRs : Objective and Keys Results
– OKRs กับการพัฒนาโรงเรียน รายงานผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการสถานศึกษาในการนำ มาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติโดยใช้แนวคิดระบบการวัดผล (OKRs: Objective and Key Results). กรุงเทพฯ : 2562 พิมพ์เผยแพร่โดย กลุ่มมาตรฐานการศึกษา สํานักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 99/20 ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
– ดร.อรุณ จุติผล , ดร.ปรีชา สามัคคี , ดร.สุมิตร สามห้วย , ดร.ธีร์ สังขสัญญา.กรกฎาคม 2565. หนังสือ คุณภาพและการประกันคุณภาพการศึกษา (Quality and Educational Quality Assurance). นครศรีธรรมราช : โรงพิมพ์ดีชัย, 2565
– รายงานประจำปี โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๖. 2556 แหล่งที่มา http://www.skschool.ac.th/sar2556/2.pdf
– ประวัติความเป็นมา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๕ แหล่งที่มา https://www.rpk35.ac.th/
– นภดล ร่มโพธิ์ : แนวทางพัฒนาการดำเนินการประกันคุณภาพภายในโรงเรียนผินสหราษฎร์พัฒนา โดยใช้ แนวคิดระบบการวัดผลแบบ OKRs : Objective and Key Results เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research & Development)