การประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนบ้านดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อผลงานทางการศึกษา การประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนบ้านดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อผู้ประเมิน นางสาวนุชจรินทร์ ทับทิม
ปีที่ศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) โรงเรียนบ้านดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินชิป (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม ซึ่งมีประเด็นการประเมิน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การประเมินบริบท (Context Evaluation) เพื่อประเมินบริบทความต้องการจำเป็นและความสอดคล้องเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการ 2) การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) เพื่อประเมินความเหมาะสมของปัจจัยเบื้องต้นที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการ 3) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เพื่อประเมินความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินโครงการ และ 4) การประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ ในเรื่องความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ความรู้ในการจัดการขยะของ ครู บุคลากรสนับสนุนการศึกษา และนักเรียน ตลอดจนการนำความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะไปปฏิบัติ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน รวมทั้งสิ้น 343 คน ประกอบด้วย ครู จำนวน 25 คน บุคลากรสนับสนุนการศึกษา จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 150 คน และผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 150 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 4 ชุด แบบทดสอบความรู้จำนวน 1 ชุด และแบบประเมินการปฏิบัติ จำนวน 1 ชุด โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย ( หรือ Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( หรือ Standard Deviation) และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการประเมินพบว่า
๑. ด้านบริบท (Context) มีความต้องการจำเป็นและความสอดคล้องเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนโยบายของโรงเรียนสอดคล้องกับนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ แผนพัฒนาการศึกษาของชาติ ในการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด
๒. ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) มีความเหมาะสมของปัจจัยเบื้องต้นที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดย ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียน เห็นความสำคัญ และมีความพร้อมในการดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหาด้านการจัดการขยะในโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด
๓. ด้านกระบวนการ (Process) มีความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยกิจกรรมของโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) มีความเหมาะสม สอดคล้อง ตามแนวคิดปลอดขยะ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด
๔. การประเมินผลผลิต (Product) ความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อผลผลิตของโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยผู้ปกครอง ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา ได้รับประโยชน์จากโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) อย่างเหมาะสมมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดอีกทั้งครูบุคลากรสนับสนุนการศึกษาและนักเรียนมีความรู้ในการจัดการขยะสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ร้อยละ๖๐และมีการนำความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะไปปฏิบัติโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ