การพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ชื่อเรื่อง: การพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้วิจัย: นางภาวดี ติวาวิไล
หน่วยงาน: โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนารามเป็นสถานศึกษาสังกัด เทศบาลตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนและพัฒนาผู้เรียน จึงได้มีการศึกษาวิจัยการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบริบทและปัจจัยนำเข้าในการบริหารจัดการโรงเรียน 2) พัฒนารูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 3) ศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนเทศบาลปลายบางวัดอุบลวนาราม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปดำเนินการ การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา ใช้วิธีวิจัยแบบผสานวิธี ตามแบบผสมผสานวิธีหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน และสร้างรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการ และศึกษาผลการใช้รูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการด้วยหลักการประเมินแบบ CIPPIEST กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน และนำผลการประเมินกลับมาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า รูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการที่ได้คือ UBON MODEL ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) เข้าใจ (U: Understanding) คือ การสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์บริบทเพื่อกำหนดเป้าหมาย 2) ทำได้ (B: Best Practice) คือ การสร้างแนวปฏิบัติที่ดี เหมาะสมกับบริบท 3) ใช้ต่อเนื่อง (O: Ongoing Process) คือ การสร้างความยั่งยืน ขยายผลต่อเนื่อง 4) ขับเคลื่อนชุมชน (N: Network) คือ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในแต่ละองค์ประกอบมีแนวทางปฏิบัติเพื่อการกำกับติดตาม 3 มิติ ประกอบด้วย มิติผู้บริหาร มิติครู และมิตินักเรียน โดยรูปแบบและแนวทางนี้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียนตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนได้เป็นอย่างมาก และสามารถนำแนวทางการบริหารจัดการ UBON MODEL ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาองค์กรอื่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้