การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

กระดานสนทนา เผยแพร่ผลงานวิชาการหมวดหมู่: เผยแพร่ผลงานวิชาการการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
วาสนา ขัติยะ asked 11 เดือน ago

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการ
เรียนรู้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อสร้างและ
พัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทย สำหรับ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม
ที่พัฒนาขึ้น และ 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม
ที่พัฒนาขึ้น เป็นการวิจัยและพัฒนา เก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถาม แบบทดสอบ เก็บข้อมูล
เชิงคุณภาพด้วยการสังเกตและการสนทนากลุ่ม
การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาปัญหาและความต้องการพัฒนา
รูปแบบการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทย โดยการสอบถามด้วยแบบสอบถามและ
สนทนากลุ่มจากครูภาษาไทยและครูวิชาการ จำนวน 10 คน ในโรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดสมอราย)
ระยะที่ 2 สร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกมโดยการศึกษาเอกสาร
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทดลองใช้กับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง เพื่อปรับปรุงรูปแบบ ระยะที่ 3
นำรูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกมที่พัฒนาขึ้นไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างการวิจัย
โดยจัดทำเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 9 แผน ใช้เวลา 18 ชั่วโมง ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็น
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน และ ระยะที่ 4
ประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม โดยการสอบถามครูผู้ใช้
รูปแบบการเรียนรู้และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 10 คน เป็นครูในโรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดสมอราย) จำนวน
10 คน และครูโรงเรียนอื่น จำนวน 5 คน สอบถามนักเรียนและสนทนากลุ่มนักเรียนที่เรียนด้วย
รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม จำนวน 1 ห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
ประกอบด้วย แบบสอบถามสภาพปัญหาและความต้องการพัฒนาการสอนหลักภาษาไทย การสนทนากลุ่มครู การสนทนากลุ่มนักเรียน แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม จำนวน
9 แผน แบบทดสอบวัดความเข้าใจหลักภาษาไทย แบบประเมินความพึงพอใจในการเรียน และแบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที แบบ dependent t-test วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการ
สรุปประเด็น
ผลการวิจัยพบว่า
1) สภาพปัญหาและความต้องการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ ครูมีความเห็นว่า ขอบเขตเนื้อหา
หลักภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ครูสนใจพัฒนาคือ การวิเคราะห์ชนิดและหน้าที่ของคำ
และเรียนรู้ลักษณะของประโยค กลวิธีการสอนที่ครูควรนำมาใช้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสอน
ได้แก่ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และนำเกมการศึกษามาประยุกต์ใช้
ในกิจกรรมการเรียนการสอน
2) รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทย
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น เกิดจากการบูรณาการหลักการของการเรียนรู้
แบบร่วมมือ การเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก การจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นและเกม และบูรณาการขั้นตอนจาก
วิธีการเดิม จัดการเรียนรู้โดยแบ่งนักเรียนคละความสามารถเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน รูปแบบการเรียนรู้
มี 5 องค์ประกอบ คือ หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ เนื้อหาการเรียนรู้ ขั้นตอน
กิจกรรมการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล โดยขั้นตอนกิจกรรมการเรียนรู้ มี 6 ขั้นตอน หรือ
PTGAST model ประกอบด้วย 1) ขั้นเตรียม (Preparation) 2) ขั้นครูนำเสนอเนื้อหา (Teaching)
3) ขั้นศึกษาในกลุ่ม (Group Study) 4) ขั้นเล่นเกมเพื่อการเรียนรู้ (Academic Game) 5) ขั้นสรุป
เนื้อหา (Summary) และ 6) ขั้นทดสอบ (Test) นำรูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นไปใช้ โดยการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม จำนวน 9 แผน ผลการ
ตรวจสอบประสิทธิภาพ (E1/E2) ขั้นทดลองใช้ เท่ากับ 87.22/88.00
3) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกม มีคะแนนความเข้าใจ
หลักภาษาไทยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และรูปแบบการเรียนรู้
แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกมมีประสิทธิภาพ (E1/E2) ขั้นนำไปใช้จริง เท่ากับ 87.96/88.67
4) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กร่วมกับการใช้เกมมีความพึงพอใจ
ในการเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก
ร่วมกับการใช้เกมโดยครูที่เกี่ยวข้อง มีความเหมาะสมระดับมาก

Powered by GliaStudio
Back to top button