การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้บูรณาการแบบ STEAM ร่วมกับทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เพื่อส่งเสริมทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี วิชาเครื่องขยายเสียง เรื่อง Bluetooth Speaker จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
หัวข้อการศึกษา การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้บูรณาการแบบ STEAM ร่วมกับทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เพื่อส่งเสริมทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี วิชาเครื่องขยายเสียง เรื่อง Bluetooth Speaker จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้ศึกษา นายกรพิสิษฐ์ พุดแดง
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีการศึกษา 2566
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ และ 4) เพื่อประเมินผลประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนรู้ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) แบ่งขั้นตอนการวิจัยเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้ 1) Research (R1) ศึกษาและวิเคราะห์แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวกับการสอน วิธีเรียนรู้ ความคิดเห็น การประเมินผล 2) Development (D1) ออกแบบและพัฒนารูปแบบ คู่มือการใช้รูปแบบ หน่วยและแผนการจัดการเรียนรู้แบบบันทึกการสร้างนวัตกรรม แบบประเมินทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรม และแบบสอบถามความคิดเห็น ประเมินประสิทธิภาพด้านความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) โดยสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Focus Group Discussion : FGD) 3) Research (R2) การนำรูปแบบไปทดลองใช้
(Implementation) และ 4) Development (D2) นำรูปแบบการเรียนรู้ไปใช้จริงและประเมินผลประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนรู้กับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 24 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ใช้ระยะในการทดลองสอนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 40 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) คู่มือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบประเมินทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ จำนวน 30 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที แบบกลุ่มตัวอย่างไม่อิสระ ค่าดัชนีประสิทธิผล และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ การสนทนากลุ่ม พบว่า มีสาเหตุมาจาก 3 ประการดังนี้ 1) ด้านบุคลากรครูได้รับการพัฒนาเพื่อให้เกิดความรู้และทักษะงานอาชีพในระดับน้อย 2) ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน พบว่าในหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมที่ส่งเสริมทักษะงานอาชีพต่างๆ ยังไม่ต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพ 3) ด้านนักเรียนไม่สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ในหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมไปพัฒนาสร้างนวัตกรรมนำไปใช้สร้างอาชีพได้จริง
2. ผลการสร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ พบว่า 2.1) ได้รูปแบบการเรียนรู้บูรณาการแบบ STEAM ร่วมกับทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเพื่อส่งเสริมทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี วิชาเครื่องขยายเสียง เรื่อง Bluetooth Speaker จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีองค์ประกอบประกอบด้วย องค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ คือองค์ประกอบด้านหลักการและวัตถุประสงค์องค์ประกอบด้านกระบวนการและองค์ประกอบด้านเงื่อนไข และได้กระบวนการขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นกระตุ้นความสนใจ 2) ขั้นสำรวจและค้นหา 3) ขั้นอภิปรายและลงข้อสรุป 4) ขั้นสร้างสรรค์ผลผลิตของความเข้าใจ และ 5) ขั้นสะท้อนผลผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ และ 2.2) ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้บูรณาการแบบ STEAM พบว่า การทดลองแบบรายบุคคล มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 90.56/85.56 การทดลองแบบกลุ่มเล็กมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 89.72/72.78 และการทดลองแบบภาคสนาม มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 90.88/84.44
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้บูรณาการแบบ STEAM ร่วมกับทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเพื่อส่งเสริมทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี วิชาเครื่องขยายเสียง เรื่อง Bluetooth Speaker จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น พบว่า 3.1) รูปแบบการเรียนรู้จากการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 85.10/83.89 3.2) ดัชนีประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนรู้ มีค่าเท่ากับ 0.68 ซึ่งหมายความว่านักเรียนที่ได้เรียนรู้ด้วยรูปแบบ มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น 0.68 หรือ คิดเป็นร้อยละ 68.00
4. ผลการประเมินผลรูปแบบการเรียนรู้บูรณาการแบบ STEAM ร่วมกับทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เพื่อส่งเสริมทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี วิชาเครื่องขยายเสียง เรื่อง Bluetooth Speaker จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น พบว่า 4.1) หลังใช้รูปแบบนักเรียนมีทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี วิชาเครื่องขยายเสียง เรื่อง Bluetooth Speaker จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 4.2) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการเรียนรู้บูรณาการแบบ STEAM ร่วมกับทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ภาพรวมอยู่ในระดับมาก