การพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของครูผู้สอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่
ชื่อวิจัย การพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของครูผู้สอน
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่
ผู้วิจัย กรวิกา ฉินนานนท์
หน่วยงาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่
ปีที่รายงาน 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียน เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของครูผู้สอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของครูผู้สอน ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของครูผู้สอน และระยะที่ 3 การประเมินประสิทธิผลของการพัฒนาสมรรถนะ การวิจัยในชั้นเรียน
กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สอนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่ จำนวน 17 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้แบบวัดความรู้ในการวิจัยในชั้นเรียน แบบวัดเจตคติต่อการวิจัยในชั้นเรียน แบบประเมินทักษะการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยในชั้นเรียน และแบบวัดความพึงพอใจที่มีต่อ การใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียน ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพื้นฐาน และความแปรปรวนพหุนามทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One-way MANOVA; repeated measures)
ผลการวิจัยพบว่า
- สมรรถนะที่มีความต้องการจำเป็นในการทำวิจัยในชั้นเรียน ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ในการวิจัยในชั้นเรียน ด้านทักษะการทำวิจัยในชั้นเรียน และด้านเจตคติต่อการวิจัยในชั้นเรียน
- รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของครูผู้สอน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 เต็มใจและเห็นคุณค่า ขั้นที่ 2 การมีส่วนร่วมในประสบการณ์จริงหรือ ขั้นลงมือปฏิบัติ ขั้นที่ 3 การสะท้อนการกระทำ ขั้นที่ 4 สรุปแนวคิดหลักการ และขั้นที่ 5 ประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่
- ผลการประเมินประสิทธิผลของการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียน พบว่า คะแนนสมรรถนะการทำวิจัยในชั้นเรียน ด้านความรู้ในการวิจัยในชั้นเรียน ด้านเจตคติต่อการวิจัย และด้านทักษะการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยสถาบัน ในระยะหลังทดลอง และระยะติดตามผลหลังทดลอง 4 สัปดาห์ สูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และครูผู้สอน มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของครูผู้สอนในระดับมากที่สุด