นวัตกรรม การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะ การอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ด้วยหนังสือนิทานคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
นางสาวนพวรรณ ถนอมพันธ์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนบ้านหนองจำนัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1
หมายเลขโทรศัพท์ 089-7223195
- ความสำคัญของนวัตกรรม
ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ด้านคุณภาพการศึกษา จากการประเมินผลการศึกษาของหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อสรุปในทำนองเดียวกันว่า คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง เนื่องจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชั้นต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังพบว่า ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนของครูส่วนใหญ่ยังคงเน้นการสอนตามเนื้อหา ตามตำรา มิได้เน้นกระบวนการเรียนรู้ตามหลักการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ จากปัญหาดังกล่าวเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกระบวนการและกลไกต่างๆ 4 ด้าน คือ โครงสร้างและระบบการบริหาร หลักสูตรการศึกษา การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูป มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพทางด้านสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรมและทักษะการปฏิบัติ ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ต่อการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข (กรมวิชาการ. 2546)
เนื่องจากผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในมาตรฐานที่ 4 ด้านการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ สร้างสรรค์ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ยังอยู่ในระดับที่จำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนา บทความนี้จึงมุ่งให้หลัก และแนวทางแก่ครูในการบรูณาการทักษะการคิดดังกล่าว ในการเรียนการสอนสาระของรายวิชาต่างๆ โดยเริ่มจาก 1) ทำความเข้าใจในความหมาย และกระบวนการหรือขั้นตอนของการคิดแต่ละแบบ 2) วิเคราะห์หาทักษะการคิดที่เหมาะสมจะบูรณาการกับสาระที่จะสอน 3) ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้โอกาสผู้เรียนได้ ดำเนินการคิดตามกระบวนการของการคิดนั้นๆ ซึ่งจะเกิดประสิทธิผลมากขึ้น หากผู้เรียนได้รับการเสริมแรงข้อมูลป้อนกลับและความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ รวมไปถึงการให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดบ่อยๆ ในสถานการณ์ที่หลากหลายและการส่งเสริมให้นำทักษะการคิดที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน 4) วัดและประเมินความสามารถทางการคิดได้ทั้งทางด้านผลสัมฤทธิ์ของการคิด ด้านทักษะกระบวนการคิด และด้านคุณลักษณะที่เอื้อต่อการคิด (ทิศนา แขมมณี 2544)
การคิด เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น เนื่องจากมนุษย์สามารถพัฒนาสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว นอกจากนี้ ความสามารถในการคิด ยังทำให้มนุษย์สามารถแก้ปัญหาสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพื่อนำมาสร้างความสุขให้แก่ตนเอง และป้องกันตนเองจากภัยอันตรายต่างๆ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2545) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการคิดว่า การคิดกำหนดความเป็นตัวเรา การคิด (Thinking) เป็นตัวกำหนดสิ่งที่เรารู้ ความรู้ที่เราได้จากการคิดจะเป็นตัวกำหนดความเป็นตัวเราว่าเราคิดอย่างไร เรารู้อะไร เราจะเป็นเช่นนั้น และความเป็นตัวเราจะกำหนดวิถีชีวิตเราให้เราแสดงออกโดยการพูด การเขียน การกระทำ การแสดงกริยาอาการต่างๆ การคิดเป็นพื้นฐานของสติปัญญาและความเข้าใจ คนจะหาคำตอบได้ดี หากใช้เวลาในการคิดทบทวน ไตร่ตรอง ก่อนการตัดสิน ความคิดจะช่วยให้เราสามารถปรับปรุง สิ่งเดิมให้ดีขึ้นและคิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ การคิดเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจ ในแต่ละวันของคนเรามีสิ่งที่เข้ามากระทบในสมองมากมายที่ทำให้เราต้องตัดสินใจทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ การคิดช่วยให้เราตัดสินใจอย่างรอบคอบ การคิดนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติของมนุษย์มีความต้องการที่จะประสบผลสำเร็จ จึงไม่พอใจในสภาพที่เป็นอยู่ จึงพยายามคิดเพื่อเปลี่ยนแปลง และได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ การคิดช่วยสร้าง ความสามารถในการแข่งขันในสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้น การที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดด้วยการแสดงออก ตัดสินใจ การแก้ปัญหา หรือแสดงผลของพฤติกรรมการใช้ความคิดอย่างคล่องแคล่วและรวดเร็ว ซึ่งแต่ละคนจะมีทักษะการคิดแตกต่างกันไปตามระดับความสามารถในการคิดได้ เร็วหรือช้า คิดผิดหรือคิดถูก คิดเป็นขั้นตอน ทักษะการคิดสามารถพัฒนาและฝึกฝนได้ บุคคลที่พัฒนาหรือฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะมีทักษะทางการคิดเพิ่มมากขึ้น (สำนักทดสอบทางการศึกษา 2549) แต่จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ชี้ว่า มีโรงเรียนเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่ผ่านระดับพอใช้ ในมาตรฐานที่ 4 คุณภาพผู้เรียนด้านการคิดวิเคราะห์ การประเมินรอบสองก็ยังยืนยันว่าคุณภาพดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่ลึกซึ้ง เนื่องจากผู้สอน ยังไม่สามารถทำให้ผู้เรียน เสนอความรู้เป็นความสัมพันธ์เชิงระบบและเป็นองค์รวมได้ ปัญหาหลักที่คุณภาพผู้เรียนยังไม่ผ่านเกณฑ์ก็คือ การที่ครู บุคลากร มีความรู้ระดับบอกได้ ตอบคำถามได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนรู้วิธีการต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติจริงยังมีน้อยมาก ครูจึงนิยมสอนให้นักเรียนพูดได้ บอกได้ตรงคำถามของครูได้เท่านั้น ไม่เลยไปถึงการอธิบายยาวๆ การนำเสนอให้เห็นความรู้อย่างกว้างขวางแตกฉานเป็นองค์รวมด้วยชิ้นงาน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2550)
การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 จึงมุ่งให้การศึกษา เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาคนและสังคม เพื่อสร้างคนให้มีความคิด มองกว้าง ใฝ่ดีมีคุณธรรม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก กิจกรรมการเรียนการสอนปัจจุบันเน้นการถ่ายทอดตัวความรู้และเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ผลผลิตคือนักเรียนไม่สามารถสร้างเสริมความคิดได้เท่าที่ควร ขาดการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ขาดการส่งเสริมให้นักเรียนขวนขวายหาความรู้ด้วยกระบวนการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จากการประเมินผลการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดย นงลักษณ์ วิรัชชัย และคณะ (2547) ได้เสนอผลการวิจัยด้านผู้เรียน พบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่มีจุดอ่อนในด้านทักษะการคิด ทักษะการค้นคว้าพื้นฐาน ทั้งที่ผู้เรียนประเมินตนเองว่า มีระดับผลการเรียนเฉลี่ยดี แต่ผลการวัดความสามารถโดยนักวิจัยกลับพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ ทักษะการคิด ทักษะการค้นคว้าอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ โรงเรียนมากกว่าร้อยละ 90 มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางทักษะการคิด ทักษะการค้นคว้าของผู้เรียนอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงและจากการประเมินตนเองของโรงเรียน (Self Study Report) ในระดับโรงเรียน พบว่า ด้านผู้เรียนในมาตรฐาน ที่ 4 ผู้เรียนมีทักษะการคิดและทักษะการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองอยู่ในระดับ ปรับปรุง และมาตรฐานที่ 5 ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อยู่ในระดับ ปรับปรุง เช่นเดียวกัน จึงเป็นจุดอ่อนในการจัดการศึกษา การมุ่งเน้นการปฏิรูปการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับปรุงพัฒนาอย่างจริงจัง ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการรองรับเจตนารมณ์ ดังกล่าว
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรแกนกลางเพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้งเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ จึงกำหนดเป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละระดับช่วงชั้น (กระทรวงศึกษาธิการ 2551) และกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายเร่งด่วน เรื่อง เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา โดยยึดหลักคุณธรรมนำความรู้ เพื่อสร้างความตระหนัก สำนึกในคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี วิถีประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบัน ศาสนาและสถาบันการศึกษา โดยมีจุดเน้นเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุข ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนดังกล่าวมีความชัดเจน เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม 8 คุณธรรมพื้นฐานที่ควรเร่งปลูกฝังแก่เยาวชนไทย อันได้แก่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ โดยมีจุดเน้นเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุข ด้วยการใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบัน การศึกษา โดยการจัดสภาพการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นคุณค่าของการมีศีลธรรมและจริยธรรมในด้านต่างๆ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อและพฤติกรรมที่ดีงาม และตามหลักพุทธศาสนาได้กล่าวถึงการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์ตามหลักไตรสิกขา อันประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออีกนัยหนึ่งคือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญาไปพร้อมกัน โดยเน้นที่การพัฒนาปัญญาเป็นแกนหลักสำคัญของกระบวนการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกฝนให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามที่ เป็นจริง สามารถเข้าใจ เหตุปัจจัยและแก้ไขปัญหาได้ มีความประพฤติที่เป็นมาตรฐานในสังคม มีจิตใจที่ผ่องใสเบิกบาน เป็นอิสระทั้งภายนอกและภายใน ดับความทุกข์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับตน สามารถเป็นที่พึ่งให้กับตนเองได้ (ศึกษาธิการ, กระทรวง. ปฏิรูปการศึกษา 8 คุณธรรมพื้นฐาน) http://www.moe.go.th (17 มีนาคม 2546)
กระบวนการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายตามที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดนั้น จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ คือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี โดยการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความสมดุลดังกล่าว ต้องคำนึงถึง หลักพัฒนาการทางสมองและพหุปัญญา หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ประกอบด้วยกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มาตรฐานการเรียนรู้ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้ ปฏิบัติได้ มีคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนั้นมาตรฐานการเรียนรู้ ยังเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ เพราะมาตรฐานการเรียนรู้ จะสะท้อนให้ทราบว่าต้องการอะไร จะสอนอย่างไร และประเมินอย่างไร รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาโดยใช้ระบบการประเมินคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งรวมถึงการทดสอบระดับเขตพื้นที่การศึกษา และการทดสอบระดับชาติ ระบบการตรวจสอบเพื่อประกันคุณภาพดังกล่าว เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสะท้อนภาพการจัดการศึกษา ว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่มาตรฐานการเรียนรู้กำหนดเพียงใด (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551)
สาระการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระนั้นประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะหรือกระบวนการเรียนรู้ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจำเป็นต้องเรียนรู้ ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ผู้วิจัยขอกล่าวถึงเฉพาะสาระการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุระการงาน และดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุข และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสื่อแสดง ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี และสุนทรียภาพ เป็นสมบัติล้ำค่า ควรแก่การเรียนรู้ อนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป ภาษาเป็นของคู่ชีวิตมนุษย์ จะแทรกซึมอยู่ในกิจกรรมทุกกิจกรรมของมนุษย์เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ทุกแง่ทุกมุม ซึ่งภาษาจะปรากฏในสองลักษณะ คือ ภาษาพูด กับภาษาเขียน เราทราบกันดีว่าภาษาพูดนั้นใช้เสียง และภาษาเขียนใช้เครื่องหมาย ซึ่งเรียกว่า ตัวอักษร หากไม่มีภาษาเขียนหรือตัวหนังสือ การถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนการร่วมแรงร่วมใจ ความคิดมนุษย์ก็จะไม่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างที่เป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ดังนั้น เครื่องมือถ่ายทอด คือ ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน แต่ภาษาเขียนย่อมมีความคงทน ยั่งยืน และแน่ชัดกว่าภาษาพูด ภาษาเขียนหรือตัวหนังสือจึงมีความสำคัญต่อสังคมปัจจุบัน ภาษาไทยจึงมีความสำคัญกับนักเรียน การเรียนการสอนภาษาไทย เป็นงานที่ค่อนข้างยากลำบาก กล่าวคือ นักเรียนต้องพยายามทำความเข้าใจและฝึกทำซ้ำหลายๆ ครั้งจึงจะช่วยให้การนำภาษาไปใช้ในการสนทนา อธิบาย โต้ตอบ เขียนสื่อความหมายกับผู้อื่นในลักษณะต่างๆ ได้ถูกต้อง ดังที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมวิชาการ ได้กำหนดคุณภาพผู้เรียนเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ไว้ดังนี้ คือ 1) อ่านออกเสียงคำ คำคล้องจอง ข้อความ เรื่องสั้นๆ และบทร้อยกรองง่ายๆ ได้ถูกต้องคล่องแคล่ว เข้าใจความหมายของคำและข้อความที่อ่าน ตั้งคำถามเชิงเหตุผล ลำดับเหตุการณ์ คาดคะเนเหตุการณ์ สรุปความรู้ข้อคิดจากเรื่องที่อ่าน ปฏิบัติตามคำสั่ง คำอธิบายจากเรื่องที่อ่านได้ เข้าใจความหมายของข้อมูลจากแผนภาพ แผนที่ และแผนภูมิ อ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ และมีมารยาทในการอ่าน 2) มีทักษะในการคัดลายมือตัวบรรจงเต็มบรรทัด เขียนบรรยาย บันทึกประจำวัน เขียนจดหมายลาครู เขียนเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ เขียนเรื่องตามจินตนาการและมีมารยาทในการเขียน 3) เล่ารายละเอียดและบอกสาระสำคัญ ตั้งคำถาม ตอบคำถาม รวมทั้งพูดแสดงความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังและดู พูดสื่อสาร เล่าประสบการณ์และพูดแนะนำ หรือพูดเชิญชวนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม และมีมารยาทในการฟัง ดู และพูด 4) สะกดคำและเข้าใจความหมายของคำ ความแตกต่างของคำและพยางค์ หน้าที่ของคำในประโยค มีทักษะการใช้พจนานุกรมในการค้นหาความหมายของคำ แต่งประโยคง่ายๆ แต่งคำคล้องจอง แต่งคำขวัญ และเลือกใช้ภาษาไทยมาตรฐานและภาษาถิ่นได้เหมาะสมกับกาลเทศะ 5) เข้าใจและสามารถสรุปข้อคิดที่ได้จากการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน แสดงความคิดเห็นจากวรรณคดีที่อ่าน รู้จักเพลงพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น ร้องบทร้องเล่นสำหรับเด็กในท้องถิ่น ท่องจำบทอาขยานและบทร้อยกรองที่มีคุณค่าตามความสนใจได้
ในการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษา เป็นช่วงที่สำคัญมากเพราะจะเป็นพื้นฐานความรู้ของผู้เรียน การสอนหลักภาษาจะมีความสำคัญต่อการเสริมทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน อันจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมาก แต่ปัญหาที่พบเสมอก็คือ ปัญหาจากผู้เรียนขาดเจตคติที่ดีต่อวิชาภาษาไทย เรียนอย่างเบื่อหน่าย ไม่ชอบ ไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีความรู้สึกว่าวิชาภาษาไทยมีความ สำคัญน้อยกว่าวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา หรือไม่สนุกสนานเหมือนวิชาศิลปะ ดนตรีนาฏศิลป์ พลศึกษา เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องนำแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่ให้นักเรียน ได้เกิดการเรียนรู้ทำให้นักเรียนคิดและแก้ปัญหาได้ ตลอดจนมีความต้องการ ในการแสวงหาความรู้อยู่เสมอและสามารถ นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมต่อไป จึงสนใจและมีแนวคิดว่าการสอนภาษาไทยที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญโดยใช้สื่อการสอน
แนวทางในการพัฒนาในการจัดกระบวนการสอนวิชาภาษาไทย ให้นักเรียนสามารถอ่านออก เขียนได้นั้น ครูผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบทบาทของตนเอง ครูจะต้องมีสื่อในการเรียนการสอน ครูต้องมีความเสียสละ เมื่อสอนจบไปแล้วครูควรมีการประเมินนักเรียน โดยการประเมินเป็นรายบุคคล นอกจากนี้แล้วครูต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากเป็นผู้บอกความรู้แต่ละครั้งที่เข้ามาสอน มาเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน โดยการเป็นผู้กระตุ้น เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดและศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง รักการอ่าน รักการเรียน รักการเขียน สอนวิธีการแสวงหาความรู้มากกว่าสอนตัวความรู้สอนให้คิดมากกว่าท่องจำ โดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ จะเป็นการช่วยพัฒนาให้นักเรียนมีความพร้อมและพัฒนาทางด้านร่างกายอารมณ์ สังคมและสติปัญญา ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของการจัดการศึกษาในปัจจุบัน แนวความคิดหรือทฤษฎีที่ใช้จากกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ จะเน้นให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน การเขียน โดยให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง มากกว่าที่ครูจะเป็นผู้บอกความรู้ให้ ครูคอยดูแลและให้คำปรึกษา และครูทุกคนจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า มีแผนการจัดการเรียนรู้ มีสื่อการสอนเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น https://www.gotoKnow.org/posts/409185
จากความต้องการและแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา โดยการเปลี่ยนแปลงกระบวน การเรียนรู้โดยการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็น วิเคราะห์เป็น และสร้างองค์ความรู้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและเต็มศักยภาพ การศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาต้องการให้เด็กรู้จักคิดเป็น ทำงานเป็นและแก้ปัญหาเป็น ด้วยความเชื่อกันว่าเด็กคิดไม่เป็นนั้น ไม่ถูกต้อง เด็กๆ ทุกคนสามารถคิดได้ และรู้จักคิด หากครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝนเกี่ยวกับการคิดอย่างจริงจัง (ลัดดา ภู่เกียรติ. 2544) และรายงานวิจัยทางด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่าเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนไม่ได้ จำนวน 600,000 คน ซึ่งเป็นนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 4.5 ของประชากรวัยเรียนทั้งหมด (ผดุง อารยะวิญญู. 2546) ดังนั้น การอ่านและการเขียน และการคิดวิเคราะห์จึงถือว่าเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญที่นักเรียนต้องใช้ในการสื่อสารกับผู้อื่นและเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
ผู้วิจัยในฐานะครูผู้สอน จึงเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อส่งเสริม พัฒนา ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร จึงศึกษาแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ด้วยหนังสือนิทานคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยยึดทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาและความคิด Piaget ให้ความเห็นเกี่ยวกับเด็กว่า คือ ผู้ที่พยายามศึกษาสำรวจโลกของตนเองทั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของและบุคคล จากการที่เด็กมีโอกาสปฏิสัมพันธ์(Interaction) กับสิ่งแวดล้อมรอบข้างทำให้เด็กเกิดความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม และมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ จนสามารถคิดในสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาด้านสติปัญญาและความคิด คือ การที่คนเราได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกเกิด ทำให้เด็กรู้จักตนเอง ประสบการณ์ในการที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดพัฒนาการทางสติปัญญาซึ่งการพัฒนาสติปัญญาและความคิดนี้จะเริ่มจากการปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม Piaget กล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีแนวโน้มพื้นฐานที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (Piaget. 1964) โดยการประยุกต์ใช้แบบแผนการวิจัยและพัฒนา (R&D : Research and Development) ด้วยเทคนิคการรวบรวมข้อมูลแบบผสานวิธี (Mixed-Method Methodology) ด้วยการสัมภาษณ์ครูผู้สอนภาษาไทยและผู้ทรงคุณวุฒิในการสะท้อนความคิดเห็น เพื่อสังเคราะห์ให้ได้รูปแบบการที่มีประสิทธิภาพ และนำไปทดลองใช้ เพื่อตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของรูปแบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่า สามารถนำไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ด้วยหนังสือนิทานคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้สามารถบรรลุตามจุดมุ่งเน้นตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ต่อไป
- วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะ การอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ด้วยหนังสือนิทานคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
- เพื่อสร้างรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ด้วยหนังสือนิทานคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
- เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ด้วยหนังสือนิทานคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
- เพื่อประเมินรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ด้วยหนังสือนิทานคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
- กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนบ้านหนองจำนัก 1 ห้องเรียน รวมทั้งสิ้น 11 คน