บทความ

ปรนัย – อัตนัย แตกต่างกันอย่างไร

ปรนัยอัตนัย แตกต่างกันอย่างไร

“ปรนัย – อัตนัย”

คำที่ผมยกมาเป็นหัวข้อในสัปดาห์นี้ บรรดานักเรียนนักศึกษา หรือท่านที่เคยผ่านวัยเรียนมาก่อนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นคำที่ใช้เรียกการสอบข้อเขียนเพื่อทดสอบความรู้ที่เราได้เรียนมา สาเหตุที่ต้องยกนำมาเขียนในบอร์ดแห่งนี้ก็เพราะว่าในปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่บางคนยังสับสนระหว่างประเภทการสอบแบบปรนัย แบบอัตนัย และการสอบข้อเขียน แถมยังมีคำใหม่ที่เด็กวัยรุ่นประดิษฐ์ขึ้นมาอีกคำคือ “ข้อสอบช้อยส์” วันนี้ผมจึงขออธิบายชื่อการสอบชนิดต่างๆ ให้เป็นที่เข้าใจพอสังเขป ดังนี้ครับ

คำว่า “การสอบข้อเขียน” หมายถึงการทดสอบความรู้โดยให้ผู้สอบเขียนคำตอบลง ในกระดาษ ต่างจาก “การสอบปากเปล่า” ซึ่งหมายถึงการสอบโดยวิธีซักถามให้ตอบด้วยวาจา และ “การสอบสัมภาษณ์” ซึ่งหมายถึงการสอบท่วงทีวาจาและไหวพริบ เพื่อพิจารณาชั้นเชิงและความสามารถของผู้เข้าสอบว่าจะเป็นผู้เหมาะสมตามที่ ต้องการหรือไม่

การสอบข้อเขียนแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ “การสอบแบบปรนัย” และ “การสอบแบบอัตนัย” คำว่า “ปรนัย” อ่านได้สองแบบคือ ปะระไน หรือ ปอระไน หมายถึง วัตถุวิสัย; การสอบแบบที่ผู้สอบมักไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นส่วนตัว เป็นคำถามที่ต้อง การคำตอบตายตัว ดังนั้น ในการสอบแบบปรนัย ผู้สอบมักจะต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องจากตัวเลือกหลายๆ ตัวที่ให้ไว้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ข้อสอบช้อยส์” ที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า choices ที่แปลว่า ตัวเลือกหลายๆ ตัว

ส่วนคำว่า “อัตนัย” หมายถึง จิตวิสัย; ที่เปิดโอกาสให้แสดงความรู้หรือความคิดเห็นส่วนตัวได้, การสอบแบบที่ให้ผู้ตอบบรรยายแสดงความรู้หรือแสดงความคิดเห็นของตนเอง คำ นี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า subjective แต่บางครั้งเด็กไทยเรียกว่า “ข้อสอบเติมคำ” หรือ “ข้อสอบบรรยาย” เพราะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การเขียนบรรยาย ไม่มีคำตอบให้เลือกเหมือนการสอบแบบปรนัย

ประเด็นที่มักเกิดความสับสนก็คือเมื่อเอ่ยถึงการสอบข้อเขียน หลายคนจะเข้าใจว่าหมายถึง การสอบแบบอัตนัย เพราะต้องเขียนตอบ ไม่มีคำตอบให้เลือก ส่วนข้อสอบแบบมีคำตอบให้เลือกก็จะไปเรียกว่าข้อสอบช้อยส์แทน ซึ่งผิดจากความหมายที่แท้จริง เนื่องจากการสอบแบบอัตนัยและแบบปรนัยก็ล้วนเป็นการสอบข้อเขียนทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าการสอบแบบปรนัยผู้สอบจะมีคำตอบให้เลือก แต่ก็ยังต้องเขียนคำตอบลงในกระดาษอยู่ดี จึงหวังว่าผู้อ่านที่ยังสับสนอยู่จะเข้าใจเกี่ยวกับการสอบแต่ละชนิดมากขึ้น “

เครดิต godsillaja.exteen.com

Powered by GliaStudio

การศึกษาไทย

เว็บไซต์ข่าวสารการศึกษาของครูและบุคลากรทางการศึกษา อัพเดททุกวัน ติดตามเราเพื่อไม่พลาดความเคลื่อนไหว ของข่าวสารการศึกษา ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button