บทความ

สรุป หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย

สรุป หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547

หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย

บัญญัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรักษาวินัยตามที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามหมวดนี้ โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ  

ตั้งแต่ มาตรา 82 ถึง มาตรา 97

มาตรา 82ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรักษาวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้าม และข้อปฏิบัติไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ

จุดมุ่งหมายของมาตรานี้ถือเป็นหน้าที่ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนที่จะต้องรักษาวินัยโดยไม่ฝ่าฝืนห้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดของวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ 

มีข้อสังเกตว่าจากบัญญัติดังกล่าว ความผิดที่ได้กระทำก่อนจะมีสถานภาพเป็นข้าราชการ หรือก่อนบรรจุ ไม่อาจนำมาลงโทษทางวินัยๆได้

มาตรา 83ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีหน้าที่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองเช่นว่านั้น

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา83

1. กระทำการใดๆ อันเป็นการไม่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. ไม่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองในระบอบประธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา83

– ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่างๆ ที่พึงกระทำในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งยุยงส่งเสริมไม่ให้ผู้อื่นไปใช้สิทธิดังกล่าวด้วย (ภาคทัณฑ์)

– มีการกระทำในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พูดชักจูงให้ผู้อื่นฝักใฝ่ในการปกครองระบอบอื่น (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน)

* ต้องสนับสนุน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา 84ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสมอภาคและเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ และต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

ห้ามมิให้อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา84 วรรคหนึ่ง

1. ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ซื่อสัตย์สุจริต เสมอภาคเที่ยงธรรมต่อทางราชการ

2. ไม่มีความวิริยะอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ไม่ดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการ

2. ไม่ปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา84 วรรคหนึ่ง

– ข้าราชการครูทําเฉลยข้อสอบให้นักเรียนบางกลุ่มไปติวก่อนสอบด้วยความห่วงใยนักเรียนเกรงว่าจะทําข้อสอบไม่ได้ อันเป็นการช่วยเหลือนักเรียนให้ได้คะแนนตามเกณฑ์การวัดผลโดยไม่ปรากฏว่ามี การเรียกร้องค่าตอบแทนจากนักเรียนแต่อย่างใด เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม (ภาคทัณฑ์)  – ฝ่าฝืนข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ (ภาคฑัณฑ์)

– ส่งผลการสอบแก้ตัวของนักเรียนล่าช้า ทําให้โรงเรียนไม่สามารถแจ้งผลการเรียนตามกําหนด (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน)  – ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ดูแลเอาใจใส่งานไม่ตรวจสอบเอกสารให้รอบคอบทําให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ หรือเกิดการทุจริต (ลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น)  

* การทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา84 วรรคสอง

1. อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา84 วรรคสอง

– รับเงินหรือสิ่งของจากผู้มาติดต่อราชการ เพื่อ

อํานวยความสะดวกเป็นกรณีพิเศษ หรือ รับเงินส่วนลดจากร้านค้าโดยไม่ส่งคืนคลัง (ภาคทัณฑ์)

– นําทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน 

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา84 วรรคสาม

1. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

2. เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้

3. โดยมีเจตนาทุจริต

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา84 วรรคสาม

– นําเงินราชการที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว (ไล่ออก) 

– เปิดเผยข้อสอบของตนหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนให้ผู้เข้าสอบหรือบุคคลอื่นทราบ โดยได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใด (ไล่ออก) 

– เบิกถอนเงินของโรงเรียนแล้วไม่นําเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของทางราชการและไม่สามารถชี้แจงแสดงพยานหลักฐานการใช้จ่ายเงินที่เบิกถอนไปได้ (ไล่ออก)

* ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ โดยมีเจตนาทุจริต เป็นความผิด วินัยอย่างร้ายแรงมีโทษไล่ออก

มาตรา 85 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลโดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน และไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล ประมาทเลินเล่อหรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา85 วรรคหนึ่ง

1. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฏหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล โดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

2. เกิดความเสียหายแก่ราชการ เช่น ขอลากิจ ลา ป่วย หรือลาพักผ่อนตามระเบียบการลาแต่ไม่ยื่นใบลา ตามระเบียบของทางราชการ 

การยื่นใบลาเป็นหน้าที่ราชการประการหนึ่งที่ข้าราชการจะต้องปฏิบัติ การหยุดราชการเพราะป่วยแต่ไม่ส่งใบลาตามระเบียบการลาถือเป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา85 วรรคหนึ่ง

– ไม่มาปฏิบัติราชการเพราะป่วย แต่ไม่ส่งใบลาตามระเบียบ (ภาคทัณฑ์)

– ออกใบเสร็จรับเงินค่าสมัคร ค่าละทะเบียนจากนักเรียน แต่ไม่มีสำเนาใบเสร็จให้ ทำให้เข้าใจผิดว่าต้นขั้วใบเสร็จรับเงินสูญหาย ทำให้ไม่มีหลักฐานเพื่อบันทึกลงบัญชีรับเงินประจำวัน (ภาคทัณฑ์)

– ไม่มาปฏิบัติราชการ แต่มาลงเวลาย้อนหลัง (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน)

– เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 2 เดือน)

– จัดเก็บเอกสารการเงิน-บัญชี หลักฐานการจ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระบบบัญชีของทางราชการ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 2 เดือน)

– ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเกี่ยวกับเรื่องการเงิน การบัญชี การพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 2 เดือน)

– อนุมัติให้จ่ายเงินทั้งที่ยังไม่มีการตรวจรับพัสดุจากกรรมการตรวจรับ โดยไม่ปรากฏว่ามีการทุจริต (ลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น)

* ข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฏหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา85 วรรคสอง

1. จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล

2. ประมาทเลินเล่อ หรือขาดการเอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ

3. เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา85 วรรคสอง

– นำเงินราชการที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบไปฝากให้ผู้อื่นนำเข้าธนาคาร เป็นเหตุให้ผู้นั้นยักยอกเงินไป (ปลดออก)

– อนุมัติเงินอุดหนุนโครงการเกษตรเพื่อการยังชีพโดยไม่ได้ตรวจสอบจำนวนและรายชื่อนักศึกษา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่นำเอารายชื่อนักศึกษานอกโครงการมาเบิกร่วมด้วย (ปลดออก)

* จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล ประมาทเลินเล่อ หรือขาดการเอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 86 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงแต่ถ้าเห็นว่า การปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการจะเสนอความเห็นเป็นหนังสือภายในเจ็ดวัน เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้นก็ได้และเมื่อเสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันเป็นหนังสือให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะต้องปฏิบัติตาม

การขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการ โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

มาตรานี้มุ่งหมายให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งการในหน้าที่โดยชอบ แต่ถ้าเห็นว่าการปฎิบัตินั้นจะทำให้เสียหายหรือไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ อาจเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้นได้ โดยมีเงื่อนไขว่า

– การปฎิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ

– ต้องเสนอความเห็นเป็นหนังสือให้ทบทวนคำสั่งภายใน 7 วัน

– ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันตามคำสั่งเดิมก็ต้องปฎิบัติตาม

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา86 วรรคหนึ่ง

1. มีคำสั่งของผู้บังคับบัญชาสั่งในหน้าที่ราชการ

2. ผู้สั่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย

3. เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ

4. มีเจตนาไม่ปฎิบัติตามคำสั่งนั้น โดยขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง

แยกพิจารณาได้ ดังนี้

1. มีคําสั่งของผู้บังคับบัญชา คําสั่งไม่จําเป็นต้องสั่งตามรูปแบบของทางราชการ หรือเป็นลายลักษณ์อักษรอาจเป็นการสั่งด้วยวาจาก็ได้

2.  ผู้สั่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา86 วรรคหนึ่ง

– ผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาทํางานเร่งด่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ไม่มาปฏิบัติงาน (ภาคทัณฑ์) 

– ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปเข้ารับการฝึกอบรม แต่ไม่ได้ไปเข้ารับการฝึกอบรม (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน) 

– ขอลาหยุดราชการ แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาตแล้วขาดราชการไป ทั้งที่ทราบว่าผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาต(ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน)

* ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเห็นว่า คำสั่งของผู้บังคับบัญชา อาจทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ อาจเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้น 

โดยต้องเสนอความเห็นเป็นหนังสือให้ทบทวนคำสั่งภายใน 7 วัน

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา86 วรรคสอง

1. มีคําสั่งผู้บังคับบัญชาสั่งในหน้าที่ราชการที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ

2. มีเจตนาไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนั้น โดยขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา86 วรรคสอง

– ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรยามแต่ไม่อยู่ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ หรือโจรมาขโมยทรัพย์สิน (ปลดออก)

มาตรา 87 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ ทางราชการและผู้เรียน จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้

การละทิ้งหน้าที่หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา87 วรรคหนึ่ง

1. ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ

2. มีเจตนาละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร 

คําว่า “ทอดทิ้ง” หมายความว่า ตัวอยู่แต่ไม่ทํางานเช่น มาลงชื่อปฏิบัติงานแล้วแต่ไม่สนใจทํางานในหน้าที่ของตนให้เรียบร้อยหรือแล้วเสร็จตามเวลาปล่อยให้งานคั่งค้าง เป็นต้น

คําว่า “ละทิ้ง” หมายความว่าไม่อยู่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ซึ่งอาจไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการเลย หรือมาลงชื่อปฏิบัติงานแล้วออกไปนอกสถานศึกษาโดยไม่ขออนุญาต 

หมายเหตุ วันปิดภาคเรียน ไม่ใช่วันหยุดของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา87 วรรคหนึ่ง

– ละทิ้งหน้าที่ราชการไม่เกิน 3 วัน (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน) 

– มาสายบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน) 

– กลับก่อนเวลาเสมอๆ (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน) 

– มาลงชื่อปฏิบัติงานแล้วไม่อยู่ในโรงเรียน (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน)

* ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ มีเจตนาละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ตัดเงินเดือน

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา87 วรรคสอง

กรณีที่ 1

1. ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มี เหตุผลอันสมควร

2. เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง

กรณีที่ 2

1. ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน

2. โดยไม่มี เหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา87 วรรคสอง

– ลาศึกษาต่อต่างประเทศเมื่อครบกําหนดเวลาไม่เดินทางกลับมาปฏิบัติราชการโดยไม่มีเหตุผลความจําเป็น (ปลดออก/ไล่ออก) 

– ยื่นใบลาออกจากราชการแล้วหยุดราชการไปทันทีโดยยังไม่ได้รับอนุญาตให้ลาออกและไม่ได้รับอนุญาตให้ลาหยุดราชการ (ไล่ออก) 

– ละทิ้งหน้าที่ราชการตั้งแต่ 16 วันขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น หลบหนีเจ้าหนี้หลบหนีคดีอาญาเป็นต้น (ไล่ออก)

* ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 88 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม มีความสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้เรียนและระหว่างข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ ต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มา ติดต่อราชการ

การกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงผู้เรียน หรือประชาชนผู้มาติดต่อราชการ อย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา88 วรรคหนึ่ง

1. มีความประพฤติอันไม่เหมาะสมไม่มีความสุภาพเรียบร้อย ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี

2. ไม่รักษาความสามัคคี ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูล

3. ไม่ต้อนรับไม่ให้ความสะดวก ไม่ให้ความเป็นธรรม

4. กระทําต่อผู้เรียนเพื่อนข้าราชการประชาชนผู้มาติดต่อราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตน

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา88 วรรคหนึ่ง

 – การใช้วาจาไม่สุภาพไม่เหมาะสมกับผู้ปกครอง ที่มาติดต่อขอทราบเหตุผลที่บุตรของตนถูกลงโทษ (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน) 

 – ทําร้ายร่างกายโดยไม่ถึงขั้นได้รับอันตรายสาหัส โดยชกหน้าเพื่อนครู 1 ที เพราะโมโหที่ไปฟ้องผู้อํานวยการโรงเรียนว่าตนไม่ยอมเข้าสอน (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน) 

 – ทะเลาะวิวาทหรือเข้าร่วมในการทะเลาะวิวาท หรือมีการใช้กําลังประทุษร้ายต่อกันครูสตรีตบตีกันในห้องพักครู (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน) 

 – หมิ่นประมาท การกล่าวอาฆาตพยาบาท พูดจาก้าวร้าว ลบหลู่ อาฆาตพยาบาทผู้บังคับบัญชาเพราะโกรธที่ไม่ได้ 2 ขั้น (ตัดเงินเดือน5% เป็นเวลา 1 เดือน)

– กลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่หรือข่มเหง พูดตําหนิ เหยียดหยาม ดูถูกครูด้วยกันให้นักเรียนฟังในขณะสอน (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน) 

ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง

* ต้องประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้เรียนและเพื่อนครู

ให้การต้อนรับ ความสะดวก ความเป็นธรรม

แก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา88 วรรคสอง

1. กระทําการกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงอย่างร้ายแรง

2. เป็นการกระทําต่อผู้เรียนหรือประชาชนผู้มาติดต่อราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตน

คําว่า “ดูหมิ่น” หมายความว่า ดูถูกว่าไม่ดีจริง 

คําว่า “เหยียดหยาม” หมายความว่า การกล่าวถ้อยคําหรือการแสดงกิริยาอาการดูถูกหรือรังเกียจ

คําว่า “กดขี่” หมายความว่า ข่มให้อยู่ในอํานาจของตน ใช้อํานาจบังคับเอา แสดงอํานาจเอา

คําว่า “ข่มเหง” หมายถึง  ใช้กําลังรังแก

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา88 วรรคสอง

– กลั่นแกล้ง เบิกเงินค่าก่อสร้างห้องน้ำโรงเรียนล่าช้าเพราะต้องการหักเปอร์เซ็นต์ (อาจเป็นความผิดตามมาตราอื่นด้วย ปลดออก)  

– ดูหมิ่น เหยียดหยาม นักเรียนว่าโง่เป็นควายโง่ทั้งตระกูล ก.ค.ศ. เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปิดกั้นพัฒนาการของผู้เรียน (และกระทําผิดกรณีอื่นร่วมด้วย : ปลดออก)  

* การกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงผู้เรียน หรือประชาชนผู้มาติดต่อราชการ อย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 89 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่กลั่นแกล้ง กล่าวหา หรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริงการกระทำตามวรรคหนึ่ง 

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา89 วรรคหนึ่ง

1. กระทำการที่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้ง กล่าวหา หรือร้องเรียนผู้อื่น

2. เป็นการกล่าวหาหรือร้องเรียนในเรื่องที่ผู้กระทำรู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริง

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา89 วรรคหนึ่ง

– การกลั่นแกล้ง กล่าวหา หรือร้องเรียนผู้อื่นเพื่อให้มีการดำเนินการทางวินัย ทั้งที่ไม่เป็นความ รวมทั้งการสร้างกระบวนการข่าวลือซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 2 เดือน)

* ต้องไม่กลั่นแกล้ง กล่าวหา หรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริง

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา89 วรรคสอง

1. กระทำการที่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้ง กล่าวหา หรือร้องเรียนผู้อื่น

2. เป็นการกล่าวหาหรือร้องเรียนในเรื่องที่ผู้กระทำรู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริง

3. ผู้ถูกกระทำได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา89 วรรคสอง

– การกลั่นแกล้งกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง แต่ทำให้ผู้อื่นเสียหายอย่างร้ายแรง ความผิดตามวรรคสอง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (ปลดออก)

* กลั่นแกล้งกล่าวหาผู้อื่นถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงปลดออก

มาตรา 90 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน                                                การกระทำตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยมีความมุ่งหมายจะให้เป็นการซื้อขาย หรือให้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหรือวิทยฐานะใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการกระทำอันมี  ลักษณะเป็นการให้ หรือได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสิทธิประโยชน์อื่น เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับการบรรจุและแต่งตั้งโดยมิชอบ หรือเสื่อมเสียความเที่ยงธรรม เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา90 วรรคหนึ่ง

1. หาประโยชน์ด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นหาประโยชน์โดยอาศัยชื่อของตนเอง

 2. การหาประโยชน์มีผลกระทบอันเป็นการเสื่อมต่อความเที่ยงธรรม หรือเกียรติศักดิ์ในตำเเหน่งหน้าที่ราชการของตน 

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา90 วรรคหนึ่ง

– ประกอบอาชีพอื่น นอกเวลาราชการและเป็นอาชีพซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับตามมาตราฐานแห่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน (ภาคทันฑ์)

– ยอมให้บริษัท ห้าง ร้าน แอบอ้างอาศัยชื่อเข้าประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงาน (ภาคทันฑ์)

– เป็นตัวแทนหรือยอมให้ตัวแทนขายสินค้า หรือขายประกันชีวิตให้แก่ผู้มาติดต่อราชการ (ภาคทันฑ์)

* ต้องไม่กระทำ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน      

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา90 วรรคสอง

1. กระทำการหาประโยชน์ด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นหาประโยชน์โดยอาศัยชื่อของตนเอง 

2. การหาประโยชน์จะมีผลกระทบเป็นการเสื่อมเสียต่อความเที่ยงธรรม หรือเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน

3. การกระทำเพื่อหาประโยชน์อันมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

3.1 เป็นการซื้อขาย เพื่อให้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหรือวิทยฐานะใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3.2 เป็นการให้ หรือได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือสิทธิประโยชน์อื่น เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับการบรรจุและแต่งตั้งโดยมิชอบ หรือเสื่อมเสียความเที่ยงธรรม

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา90 วรรคสอง

– การให้ประโยชน์แก่บุคคลอื่น หรือให้ตนได้รับตำแหน่งหรือวิทยฐานะสูงขึ้น (ปลดออก)

– การให้ประโยชน์แก่บุคคลอื่นเพื่อให้ได้รับการบรรจุหรือแต่งตั้ง (ปลดออก)

– ซื้อขายตำแหน่งหรือวิทยาฐานะ (อาจผิดตามมาตรา 84 วรรคสาม ด้วย) (ไล่ออก)

– รับประโยชน์ตอบแทน จากการบรรจุและแต่งตั้ง (อาจผิดตามมาตรา 84 วรรรคสามด้วย) (ไล่ออก)

– เรียกรับประโยชน์ตอบแทนจากการดำเนินการให้บุคคลอื่นดำรงตำแหน่งหรือมีวิทยฐานะสูงขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ไล่ออก)

* การซื้อขายหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหรือวิทยฐานะใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยมิชอบเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 91 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่น หรือจ้าง วาน ใช้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น การฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ร่วมดำเนินการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือรับจัดทำผลงานทางวิชาการไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา91 วรรคหนึ่ง

1. คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยมีเจตนาให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าผลงานนั้นตนเองเป็นผู้กระทำขึ้นด้วยตนเอง 

2. นำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่นไปใช้ในนามของตนเอง

3. จ้างหรือวานให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการให้ตนเอง 

4. การคัดลอกผลงานวิชาการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปใช้ในการขอตำแหน่ง หรือการเลื่อนตำแหน่งหรือการเลื่อนวิทยฐานะหรือการได้รับเงินเดือนสูงขึ้น

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา91 วรรคหนึ่ง

1. เป็นกรรมการ ทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการ โดยได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของผลงาน เมื่อให้ผ่านการประเมิน (ไล่ออก)

* ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่น หรือจ้าง วาน ใช้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น การฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา91 วรรคสอง

1. ร่วมกันกระทำการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ

2. ให้อีกบุคคลหนึ่งนำผลงานที่ลอกเลียนหรือคัดลอกนั้นไปใช้ตามความมุ่งหมายที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง

3. จัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา91 วรรคสอง

1. ร่วมดำเนินการรับจ้างจัดทำผลงานวิชาการโดยได้รับค่าตอบแทน โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (ไล่ออก)

2. รับจ้างจัดทำผลงานทางวิชาการโดยมีค่าตอบแทน(ไล่ออก)

3. รับจัดทำผลงานทางวิชาการ โดยตนเองมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงาน (ไล่ออก)

4. รับจัดทำผลงานทางวิชาการ โดยตนเองเคยทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการของบุคคลอื่น (ไล่ออก)

5. มีพฤติกรรมเป็นนายหน้า ตัวกลาง ผู้ติดต่อ ผู้สนับสนุน หรือชี้ช่องให้มีการรับจ้างจัดทำผลงานทางวิชาการโดยได้รับค่าตอบแทน (ไล่ออก)

6. เป็นผู้บริหารสถานศึกษาและรับจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อผู้อื่น (ไล่ออก)

* คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 92 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 92

1. เป็นกรรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา92

– เป็นกรรมการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (ภาคทัณฑ์)

– เป็นผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (ภาคทัณฑ์) 

– ดำรงตำแหน่งอื่นใดในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (ภาคทัณฑ์) 

* ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ

หมายเหตุการเป็นผู้จัดการมูลนิธิไม่เข้าข้อห้ามตามมาตรา92 นี้

มาตรา 93 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยต้องไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนแสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการทุจริตโดยการซื้อสิทธิหรือขายเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่นหรือการเลือกตั้งอื่นที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยรวมทั้งจะต้องไม่ให้การส่งเสริม สนับสนุน หรือชักจูงให้ผู้อื่นกระทำการในลักษณะเดียวกัน การดำเนินการที่ฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา93 วรรคหนึ่ง

1. ไม่วางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษและเป็นการปฏิบัติงานที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน

2. ปฏิบัติหน้าที่ราชการแสดงออกให้เห็นถึงการที่ตนเองมีความฝักใฝ่ทางการเมืองในบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือพรรคการเมืองใด

3. ให้การส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือพรรคการเมือง

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา93 วรรคหนึ่ง

– เลือกปฏิบัติหรือปฏิบัติโดยปราศจากความเป็นธรรมบนพื้นฐานความฝักใฝ่ในทางการเมืองของตนเอง (ภาคทัณฑ์) 

–  ยินยอมให้ใช้สถานที่ราชการเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้ง หรือดําเนินกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ภาคทัณฑ์) 

– ติดป้ายหาเสียงหรือสื่อสิ่งใดๆในสถานที่ปฏิบัติราชการของตน อันสื่อให้เห็นถึงการฝักใฝ่ทางการเมืองในบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง (ภาคทัณฑ์) 

–  กล่าวสนับสนุนทางการเมืองแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงในการเรียนการสอน หรือในกิจกรรมทางการศึกษาอื่นใดไม่ว่าจะกระทําในสถานที่ราชการหรือไม่ก็ตาม (ภาคทัณฑ์) 

– เป็นการกระทําในเรื่องราชการแต่ไม่ใช่หน้าที่ราชการโดยตรง ซึ่งผลของการกระทํานั้นทําให้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลกลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง พรรคใดโดยเฉพาะเจาะจง (ภาคทัณฑ์)

* ต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา93 วรรคสอง

1. ดําเนินการหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดําเนินการอันมีลักษณะเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

2. ดําเนินการใดๆ ที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนหรือชักจูงให้ผู้อื่นทุจริตในการเลือกตั้ง

3. ลักษณะของการกระทําที่ถือเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง คือ การซื้อสิทธิ , การขายเสียง

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา93 วรรคสอง

– เป็นตัวการผู้ชักจูง ผู้วางแผน ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ในการเลือกตั้ง (ปลดออก/ไล่ออก) 

– รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตอบแทนการลงคะแนนในการเลือกตั้งแก่ผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง (ปลดออก/ไล่ออก) 

– เป็นผู้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นทุจริตในการเลือกตั้ง (ปลดออก/ไล่ออก)

* การทุจริตโดยการซื้อสิทธิหรือขายเสียงในการเลือกตั้งต่างๆ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงมาตรา 94 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสียโดยไม่กระทำการใดๆอันได้ชื่อว่าเป็น ผู้ประพฤติชั่ว                                                การกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิด ลหุโทษหรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง                                   ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสพยาเสพติดหรือสนับสนุนให้ผู้อื่น เสพยาเสพติด เล่นการพนันเป็นอาจิณหรือกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา94 วรรคหนึ่ง

1. เกียรติ์ของข้าราชการ

2. ความรู้สึกของสังคม

3. เจตนาที่กระทํา

ตัวอย่างความผิดตามมาตรา94 วรรคหนึ่ง

– มีความประพฤติในทํานองชู้สาว (ภาคทัณฑ์) 

– กระทําความผิดอาญา ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดไม่ถึงจําคุกหรือจําคุกแต่ให้รอลงอาญาในความผิดที่ แต่ไม่ถึงกับเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (ตัดเงินเดือน5% เป็นเวลา1 เดือน) 

– ทะเลาะวิวาทหรือทําร้ายร่างกายผู้อื่นแต่ไม่ถึงบาดเจ็บสาหัส (ตัดเงินเดือน5% เป็นเวลา1 เดือน) 

– เมาสุราอาละวาด (ตัดเงินเดือน5% เป็นเวลา1 เดือน)                                                 

– ปลอมเอกสารหรือปลอมลายมือชื่อผู้อื่นทําให้ราชการหรือผู้อื่นเสียหายแต่ไม่ถึงกับร้ายแรง (ตัดเงินเดือน5% เป็นเวลา1 เดือน) 

– เปิดเผยข้อสอบที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตน โดยไม่ได้เรียกหรือรับผลประโยชน์ตอบแทน (ตัดเงินเดือน5% เป็นเวลา1 เดือน)

* ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องรักษาชื่อเสียงของตน

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา94 วรรคสอง

1. กระทําความผิดอาญาและศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้รับโทษจําคุกหรือโทษที่หนักกว่าจําคุก

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา94 วรรคสอง

– ทําร้ายร่างกายผู้เรียนจนบาดเจ็บสาหัส (ปลดออก) 

– ดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่ (ปลดออก) 

– เมาสุราเสียราชการ (ปลดออก) 

– ยักยอกเงินที่มีผู้ฝากไว้ (ปลดออก)

– กระทําอนาจารผู้เรียน (ปลดออก) 

– ถูกจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุด (ไล่ออก) 

– ประพฤติผิดทางเพศ มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถึงขั้นร่วมประเวณีกับคู่สมรสของผู้อื่น (ไล่ออก) 

– มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถึงขั้นร่วมประเวณีกับหญิงอื่น หรือคู่สมรสของผู้อื่น ทั้งที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว (ไล่ออก) 

– บังคับขืนใจผู้อื่นให้มีเพศสัมพันธ์ (ไล่ออก) 

– ปลอมเอกสารราชการจนเป็นเหตุให้ราชการหรือบุคคลอื่นเสียหายอย่างร้ายแรง (ไล่ออก) 

– ปลอมลายมือชื่อผู้อื่นหาประโยชน์ (ไล่ออก) 

– ทุจริตการสอบบรรจุ หรือสอบเข้าทํางาน (ไล่ออก) 

– หลอกลวงเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สิน โดยอ้างว่าสามารถฝากเข้าทํางานหรือเข้าเรียนต่อ (ไล่ออก) 

– เปิดเผยข้อสอบแล้วเรียกร้องเงิน (ไล่ออก) 

* เกี่ยวข้องกับเสพยาเสพติด เล่นการพนัน ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา94 วรรคสาม

1. เสพยาเสพติด หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นเสพยาเสพติด

2. เล่นการพนันอย่างสม่ําเสมอจนติดเป็นนิสัย

3. กระทําการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา94 วรรคสาม

– มีพฤติกรรมทางกายที่ส่อให้เห็นถึงเจตนาหรือจุดมุ่งหมายที่จะดําเนินไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ (ปลดออก) 

– มีพฤติกรรมทางกายอันหนึ่งอันใดหรือหลายพฤติกรรมประกอบกัน แม้จะไม่มีการสัมผัสเนื้อตัวมีผลทําให้ผู้ถูกกระทําได้รับความอับอาย ความอึดอัด ความคับข้องใจ ปลดออก

– เล่นการพนันในสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ (ไล่ออก) 

– เล่นการพนันในเวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการ (ไล่ออก) 

– เล่นการพนันกับเพื่อนร่วมงานหรือผู้เรียนหรือนักศึกษาในสถานศึกษาเดียวกัน (ไล่ออก) 

– จัดให้มีการเล่นการพนัน (ไล่ออก) 

– มีเพศสัมพันธ์หรือการขอมีเพศสัมพันธ์หรือการล่วงละเมิดทางเพศถึงขั้นพยายามมีเพศสัมพันธ์กับผู้เรียนหรือนักศึกษาที่อยู่ในสถานศึกษา (ไล่ออก) 

* เกี่ยวข้องกับเสพยาเสพติด เล่นการพนัน ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 95ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย ป้องกัน มิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย                 การเสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัยให้กระทำโดยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี การฝึกอบรม การสร้างขวัญและกำลังใจ การจูงใจ หรือการอื่นใดในอันที่จะเสริมสร้างและพัฒนาเจตคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปในทางที่มีวินัย                                                การป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยให้กระทำโดยการเอาใจใส่สังเกตการณ์และขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัยในเรื่องอันอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการป้องกันตามควรแก่กรณีได้                                                เมื่อปรากฏกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที            เมื่อมีการกล่าวหาโดยปรากฏตัวผู้กล่าวหาหรือกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัยโดยยังไม่มีพยานหลักฐาน ให้ผู้บังคับบัญชารีบดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณา ในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยจึงจะยุติเรื่องได้ ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูล ที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยก็ให้ดำเนินการทางวินัยทันที      การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 7 ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้และตามหมวด 7 หรือมีพฤติกรรมปกป้อง ช่วยเหลือเพื่อมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาถูกลงโทษทางวินัย หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่สุจริตให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา95

1. ไม่ดำเนินการทางวินัยทันทีเมื่อมีพยานหลักฐานเบื้องต้นอันมีมูลว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย

2. ปกป้องช่วยเหลือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา

ตัวอย่างความผิด ตามมาตรา 95

– เจตนาหรือละเลยไม่นำพาริเริ่มดำเนินทางวินัยเมื่อมีการกล่าวหาหรือร้องเรียนว่ามีการกระทำผิดวินัย โดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นแล้ว (ภาคทัณฑ์)

– กรณีที่เป็นการกล่าวหาโดยหน่วยงานของรัฐซึ่งได้มีการตรวจสอบสืบสวน หรือสอบสวนมาก่อนแล้ว ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ดำเนินการทางวินัยทันที (ภาคทัณฑ์)

– เมื่อมีผู้กล่าวหาหรือสงสัยว่าผู้ใดกระทำผิดวินัยแต่ยังไม่มีพยานหลักฐาน ผู้บังคับบัญชาต้องสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่าเป็นกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ (ภาคทัณฑ์)

– ไม่สั่งยุติเรื่องเมื่อพบว่าเป็นกรณีไม่มีมูล (ภาคทัณฑ์)

– พบว่าเป็นกรณีมีมูล แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ดำเนินการต่อไป (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน)

– กลั่นแกล้งผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในการกล่าวหาหรือดำเนินการทางวินัย (ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน)

* มาตรา95 นี้อยู่ในส่วนของผู้บริหาร

แต่คุณครูต้องทราบ

มาตรา 96 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฎิบัติตามข้อปฎิบัติทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัยจักต้องได้รับโทษทางวินัย เว้นแต่มีเหตุอันควรงดโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 7

โทษทางวินัยมี 5 สถาน คือ

* ผู้ใดถูกลงโทษปลดออกให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าเป็นผู้ลาออกจากราชการ

โทษ 5 สถานดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1. โทษสำหรับความผิดวินัยเพียง เล็กน้อย 

ได้แก่ ภาคทัณฑ์ และหากเป็นความผิดวินัยครั้งแรกจะงดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก็ได้

2. โทษสำหรับความผิดวินัยที่ ไม่ถึงขั้นร้ายแรง ได้แก่ ตัดเงินเดือน หรือ ลดขั้นเงินเดือน ซึ่งหากมีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษจากลดขั้นเงินเดือนเป็นตัดเงินเดือน หรือจากโทษตัดเงินเดือนเป็นภาคทัณฑ์ก็ได้

3. โทษสำหรับการกระทำผิดวินัย อย่างร้ายแรง ได้แก่ ปลดออก ไล่ออก ซึ่งหากมีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก (มาตรา99)

* ถ้าผู้ถูกสั่งให้ออกเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. ได้

มาตรา 97 การลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ทำเป็นคำสั่ง วิธีการออกคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษให้เป็นไปตามระเบียบของ 

ก.ค.ศ. ผู้สั่งลงโทษต้องสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด และมิให้เป็นไปโดยพยาบาท โดยอคติ หรือโดยโทสะจริต หรือลงโทษผู้ที่ไม่มีความผิด ในคำสั่งลงโทษให้แสดงว่าผู้ถูกลงโทษกระทำผิดวินัยในกรณีใด ตามมาตราใดและมีเหตุผลอย่างใดในการกำหนดสถานโทษเช่นนั้น

1. ทำเป็นคำสั่ง

2. วิธีการออกคำสั่งเป็นไปตามระเบียบ ก.ค.ศ.

3. ต้องสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด

4. ต้องไม่เป็นการลงโทษโดยพยาบาท อคติ หรือโดยโทสะจริต หรือลงโทษผู้ที่ไม่มีความผิด

5. คำสั่งลงโทษให้ระบุกรณีกระทำผิดมาตราที่ปรับบทความผิด

6. เหตุผลในการกำหนดสถานโทษ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547

หมวด 7 การดำเนินการทางวินัย

การดำเนินการทางวินัย หมายถึง กระบวนการและขั้นตอนในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดก่อนออกคำสั่งลงโทษทางวินัย

Powered by GliaStudio

การศึกษาไทย

เว็บไซต์ข่าวสารการศึกษาของครูและบุคลากรทางการศึกษา อัพเดททุกวัน ติดตามเราเพื่อไม่พลาดความเคลื่อนไหว ของข่าวสารการศึกษา ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ชุดข้าราชการ ชุดข้าราชการหญิง ชุดกากี ชุดข้าราชการ shopee
Back to top button