รูปแบบการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบร่วมกับการมีส่วนร่วมของจตุภาคีเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพของนักเรียนโรงเรียนโป่งกลางน้ำประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2
ผู้วิจัย นายสมเดช พิศาลไพโรจน์
ปีที่จัดทำ 2564-2565
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางสภาพและแนวทางการบริหาร
ตามทฤษฎีเชิงระบบร่วมกับการมีส่วนร่วมของจตุภาคี เพื่อสร้างและตรวจสอบรูปแบบ เพื่อทดลองใช้รูปแบบ และเพื่อประเมินรูปแบบการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบร่วมกับการมีส่วนร่วมของจตุภาคีเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพของนักเรียนโรงเรียนโป่งกลางน้ำประชาสรรค์ โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพและแนวทางการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบร่วมกับการมีส่วนร่วมของจตุภาคีเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพของนักเรียน โดยศึกษาจากแหล่งข้อมูลด้านเอกสาร และการประชุมรับฟังความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมจำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบวิเคราะห์เอกสาร และแบบบันทึกการประชุมรับฟังความคิดเห็น ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบรูปแบบ โดยยกร่างรูปแบบและจัดทำคู่มือการใช้รูปแบบ ตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบพร้อมแก้ไขปรับปรุง โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 คน ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบโดยนำรูปแบบไปทดลองใช้จริงในปีการศึกษา 2565 โดยการสรุปผลการการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพ 10 แหล่งเรียนรู้ สรุปสารสนเทศการมีส่วนร่วมของจตุภาคี การจัดกิจกรรมการเรียนรู้อาชีพ และประเมินทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพของนักเรียนโรงเรียนโป่งกลางน้ำประชาสรรค์ และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบโดยจตุภาคี จำนวน 45 คน ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรม จำนวน 10 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 76 คน ในปีการศึกษา 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง แบบประเมิน แบบบันทึก และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปข้อมูล ผลการวิจัยสรุปได้ว่า
- สภาพและแนวทางการบริหาร พบว่า โรงเรียนควรพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในชุมชน เช่น อาชีพเกษตรกรรม อาชีพค้าขาย อาชีพอิสระ มีแนวทางการพัฒนานักเรียน คือ จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์อาชีพต่างๆ ในชุมชน โดยใช้แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นมากขึ้น จัดเชิญปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้มาร่วมให้ความรู้และสาธิตการทำอาชีพต่างๆ ควรให้นักเรียนได้รู้จักวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม
ลงมือปฏิบัติจริงในแต่ละขั้นตอนการทำในอาชีพต่างๆ จนสามารถสร้างรายได้ และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้อาชีพในสถานศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน มีภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพและเสริมสร้างประสบการณ์อาชีพให้กับนักเรียน นักเรียนมีประสบการณ์อาชีพโดยการลงมือปฏิบัติจริงในแหล่งเรียนรู้อาชีพ และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพได้แก่ ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะกระบวนการทำงาน ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร - รูปแบบการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบร่วมกับการมีส่วนร่วมของจตุภาคีเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพของนักเรียนโรงเรียนโป่งกลางน้ำประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 มีองค์ประกอบสำคัญ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 หลักการ องค์ประกอบที่ 2 เป้าหมาย องค์ประกอบที่ 3 ปัจจัยนำเข้าในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพ ได้แก่ ปัจจัยด้านพื้นที่แหล่งเรียนรู้อาชีพของสถานศึกษา ปัจจัยด้านการมีส่วนร่วมของจตุภาคี ปัจจัยด้านกิจกรรมการเรียนรู้อาชีพ ปัจจัยด้านสื่อการเรียนรู้และวัสดุอุปกรณ์ องค์ประกอบที่ 4 กระบวนการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบร่วมกับการมีส่วนร่วมของจตุภาคี ซึ่งมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ร่วมวางแผน (Plan) ขั้นที่ 2 ร่วมดำเนินงาน (Do) ขั้นที่ 3 ร่วมติดตามตรวจสอบ(Check) ขั้นที่ 4 ร่วมสรุปและรายงานผล (Act) ขั้นที่ 5 ร่วมขยายผล (Expansion) องค์ประกอบที่ 5 ผลผลิต และมีเอกสารประกอบ คือ คู่มือการใช้รูปแบบ ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า ทั้งรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด
- ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า โรงเรียนโป่งกลางน้ำประชาสรรค์ มีแหล่งเรียนรู้อาชีพของสถานศึกษา จำนวน 10 แหล่งเรียนรู้ 2) สารสนเทศการมีส่วนร่วมของจตุภาคี ได้แก่ หน่วยงานการศึกษา ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การระดมทรัพยากร การสนับสนุนทรัพยากร และการจัดการเรียนรู้ 3) นักเรียนได้รับจัดกิจกรรมการเรียนรู้อาชีพ มีความรู้และประสบการณ์อาชีพ 10 อาชีพ และ 4) นักเรียนโรงเรียนโป่งกลางน้ำประชาสรรค์มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ โดยรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดีที่กำหนดไว้
- ผลการประเมินรูปแบบ พบว่า ความคิดเห็นของจตุภาคีต่อรูปแบบการบริหารตามทฤษฎีเชิงระบบร่วมกับการมีส่วนร่วมของจตุภาคีเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีพและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพของนักเรียนโรงเรียนโป่งกลางน้ำประชาสรรค์ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมสะท้อนให้เห็นว่านักเรียนได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับอาชีพ สามารถนำไปใช้ชีวิตประจำวันได้ สร้างรายได้ในครอบครัว หรือนำไปสู่การสร้างอาชีพเสริมที่ยั่งยืนได้ และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด